“รู้เท่าทันไทรอยด์ด้วยวิธีการรักษาสมัยใหม่” การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านทางช่องปาก ที่รพ.ปากช่องนานา - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566

“รู้เท่าทันไทรอยด์ด้วยวิธีการรักษาสมัยใหม่” การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านทางช่องปาก ที่รพ.ปากช่องนานา

 

โรงพยาบาลปากช่องนานา : นพ.สมศักดิ์ ประฏิภาณวัตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปากช่องนานา กล่าวเปิดงานเสวนา “รู้เท่าทันไทรอยด์ด้วยวิธีการรักษาสมัยใหม่” นำความรู้สู่ประชาชน ศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องไทรอยด์ โรงพยาบาลปากช่องนานา ว่า โรงพยาบาลปากช่องนานา มีพันธกิจในการพัฒนาโรงพยาบาล   ประเด็น อันได้แก่  1. พัฒนาระบบการแพทย์เฉพาะทางขั้นสูงทุกสาขา   2. การร่วมผลิตบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3.พัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบไร้รอยต่อ 4.พัฒนาคุณภาพระบบบริหารจัดการโรงพยาบาลและเครือข่ายบริการสุขภาพ และ 5.พัฒนาคุณภาพบริการสาธารณสุขในเขตการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อที่จะมุ่งบรรลุวิสัยทัศน์ “ศูนย์การแพทย์และการสาธารณสุขชั้นเลิศในเขตการท่องเที่ยว”   

ซึ่งพันธกิจด้านพัฒนาระบบการแพทย์เฉพาะทางขั้นสูงทุกสาขานั้น  โรงพยาบาลมีเป้าหมายในการที่จะพัฒนาระบบการแพทย์เฉพาะทางขั้นสูงศัลยกรรม  โดยการยกระดับให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาโรคไทรอยด์  ซึ่งในปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมาก ที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ที่รอการเข้าถึงบริการ  ดังนั้นโรงพยาบาลปากช่องนานา จึงได้นำเทคโนโลยีวิธีการรักษาสมัยใหม่ อันได้แก่ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านทางช่องปากมาใช้ในโรงพยาบาล  ซึ่งการผ่าตัดชนิดนี้จะสามารถลดอาการบาดเจ็บ ความไม่สุขสบาย และลดร่องรอยของการผ่าตัดในอย่างชัดเจน  ขณะนี้โรงพยาบาลมีความพร้อมและความเชี่ยวชาญ ทั้งได้ด้านศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง รวมถึงทีมสหวิชาชีพ ที่มีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้หายขาดจากโรคนี้ได้  จึงได้ดำเนินการเปิดศูนย์ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านกล้อง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์  

ด้าน นพ.ชาคริต ศรีเจริญวณิชย์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลปากช่องนานา กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะเพศหญิงที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์โตที่นิยมเรียกโดยทั่วไปว่า “โรคคอพอก” ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการก้อนเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ที่ไม่ค่อยตอบสนองกับการได้รับยา เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์จะได้รับการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ และการเจาะตรวจเซลล์บริเวณเนื้องอกไปตรวจ เมื่อได้ผล แพทย์จะประเมินจากผลตรวจและแจ้งแนวทางการรักษา ซึ่งการรักษาเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ จะแบ่งเป็นการติดตามอาการที่ผิดปกติ ขนาดก้อน การเจาะตรวจเซลล์บริเวณเนื้องอก และการผ่าตัด


ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อมีลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ส่วนล่างของกลางลำคอ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ทำหน้าที่ในการเผาผลาญให้เกิดพลังงาน โดยทั่วไปจะแบ่งเป็นต่อมที่อยู่ข้างขวาและข้างซ้ายและจะมีแนวเชื่อมกันตรงกลางบริเวณหน้าหลอดลม ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยในการควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยร่างกายจะสามารถผลิตฮอร์โมนได้จากการสั่งงานจากสมอง ซึ่งสมองจะหลั่งฮอร์โมนมาควบคุมต่อมไทรอยด์ให้หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงร่างกายต้องมีสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ คือ สารไอโอดีน ในปริมาณที่เพียงพอจึงจะทำงานได้ปกติ


นพ.ชาคริต กล่าวว่า การผ่าตัดต่อมไทรอยด์เป็นหัตถการที่มักทำกับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ขนาดใหญ่มีการกดเบียดหลอดลมหรือหลอดอาหารทำให้หายใจหรือกลืนลำบาก หรือในก้อนเนื้องอกที่มีลักษณะต้องสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง สำหรับเทคนิคการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านทางช่องปาก เป็นเทคนิคการผ่าตัดวิธีล่าสุดที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก โดยในการผ่าตัดจะใช้เทคโนโลยีกล้องขนาดเล็กที่มีความละเอียดสูงช่วยในการผ่าตัด ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก โดยแผลจะอยู่บริเวณด้านในของริมฝีปากล่าง ตรงกลางขนาด 1.5 เซนติเมตร และด้านข้างอีก 2 จุด 

จุดเด่นของการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านทางช่องปากจะไร้รอยแผลเป็น ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ก่อให้เกิดรอยแผลเป็นหลังการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดสามารถทำหัตถการได้สะดวกและง่ายขึ้นจากการส่องกล้อง อีกทั้งยังลดระยะเวลาการผ่าตัดและทำให้คนไข้เจ็บปวดน้อยและฟื้นตัวเร็ว  และในการผ่าตัดในต่อมไทรอยด์จะทำต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ คือ ก้อนที่มีขนาดโตจนมีการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น หลอดอาหารและหลอดลม ทำให้เกิดอาการกลืนลำบากหรือหายใจเหนื่อย, ก้อนที่มีลักษณะที่สงสัยว่าจะเป็นกลุ่มมะเร็ง และก้อนที่ผู้ป่วยต้องการที่จะผ่าตัดเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ความสวยงาม เป็นต้น โดยการผ่าตัดจะมีความเสี่ยงที่สำคัญแม้โอกาสเกิดขึ้นได้น้อย คือ เสียงแหบจากการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงเส้นเสียง ซึ่งอยู่บริเวณใต้ต่อมไทรอยด์ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรสอบถามรายละเอียดความเสี่ยงต่าง ๆ ก่อนได้รับการผ่าตัดกับแพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัดเป็นรายบุคคลด้วย






     



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad