“คอเกร็ง” อันตราย!! แพทย์เตือนเสี่ยงเป็น “โรคกระดูกคอเสื่อม” - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2567

“คอเกร็ง” อันตราย!! แพทย์เตือนเสี่ยงเป็น “โรคกระดูกคอเสื่อม”


 ปวดคอไม่ใช่เรื่องเล่น!
แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังเตือน “คอเกร็ง” จุดเริ่มต้นของโรคกระดูกคอเสื่อม แนะสังเกตตัวเองก่อนสายเกินแก้ 


นพ.เมธี ภัคเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่า 
"คอเกร็ง" เป็นอาการปวดคอชนิดรุนแรง เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและซอกคอหดเกร็ง เมื่อขยับหรือเคลื่อนไหวคอเพียงเล็กน้อยก็จะมีอาการปวด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่อาการปวดเรื้อรัง และหากมีอาการปวดหัวไหล่ไปถึงแขน ลามลงไปถึงบริเวณปลายมือ อาจมีหินปูนเข้าไปเบียด หรือกดรากประสาทแขน ทำให้เกิดอาการปวดรวมทั้งอาจมีอาการชาร่วมด้วย 


อาการคอเกร็ง สามารถเป็นได้ตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดจากพฤติกรรม และสำหรับผู้ที่เป็นมาตั้งแต่เกิดมีวิธีสังเกตคือ การหันหน้าหรือคอไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กล้ามเนื้อคอขึ้นเป็นลำ บางครั้งที่บริเวณกล้ามเนื้อเกร็งเป็นเวลานานๆ หรือเกร็งผิดรูปจะทำให้หน้าเบี้ยว โดยอาการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดบริเวณกล้ามเนื้อที่เกร็งนี้ออก โดยต้องตัดและยืดกล้ามเนื้อออกอาการผู้ป่วยถึงจะดีขึ้น และจะพอหันหน้าได้มากขึ้น อันนี้เป็นความผิดปกติที่มีสาเหตุมาจากสมองหรือเป็นมาแต่กำเนิด


ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเกิดจากพฤติกรรม ยกตัวอย่าง โรคออฟฟิศซินโดรม ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อรอบๆ คอ  หากปวดกล้ามเนื้อธรรมดาจะหันหน้าไม่ได้สัก 2-3 วัน แต่เมื่อกล้ามเนื้อหายอักเสบก็จะกลับมาหันได้เหมือนเดิม แต่ในบางรายที่มีอาการปวดคอ หันหน้าไม่ได้มานานเป็นปี ส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุหลักๆ จากหมอนรองกระดูกคอทรุด  เพราะเมื่อหมอนรองกระดูกคอทรุดจะมีบางส่วนที่ไปหนีบเส้นประสาท ซึ่งการหันหน้าเป็นการกระตุ้นโดยตรงให้กระดูกคอยิ่งหนีบเส้นประสาทมากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ป่วยหันหน้าจะทำให้ร่างกายต่อต้านและไม่อยากจะหัน จึงกลายเป็นคนที่หันหน้าได้ไม่สุด เมื่อเราแก้ไขหรือรักษาเพื่อเอารอยกดทับตรงบริเวณนั้นออก ผู้ป่วยก็จะหันหน้าได้ดีขึ้น นอกจากนั้นอีก 1 สาเหตุเกิดจากกระดูกข้อนั้นเสื่อมมากจนมาเชื่อมติดกัน หรือมีการเปลี่ยนหมอนรองคอ (ในกลุ่มที่รักษาโดยการผ่าแบบเปิด แล้วใช้เหล็กดามแบบเก่า) จะทำให้กระดูกมาเชื่อมติดกันประมาณ 2-3 ข้อขึ้นไป ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหันหน้าได้สุด และถ้าเกิดจากการผ่าตัดแบบเดิมส่วนใหญ่จะไม่สามารถแก้ไขได้  

นพ.เมธี ยังเผยอีกว่า ผู้ป่วยบางรายยังสับสนว่าอาการคอเกร็งเกิดจากการนอนตกหมอน ในเรื่องนี้ นพ. เมธี อธิบายว่า ผู้ที่รู้สึกว่าตื่นขึ้นมาแล้วเมื่อยคอตลอดเวลา ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีลักษณะของรอยโรคที่บริเวณหมอนรองกระดูกคอเสื่อมหรือมีการกดทับของเส้นประสาท เพราะโดยปกติผู้ป่วยที่มีอาการในลักษณะของการนอนตกหมอนแล้วปวดคอทุกวันแทบจะเป็นไปไม่ได้ และหากอาการดังกล่าวนี้แสดงทุกวัน อาจจะต้องมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติบริเวณคอแล้ว และให้สังเกตุว่าเมื่อเราตื่นขึ้นมามีอาการปวดคอติดต่อกันเป็นเดือนหรือไม่ และควรรีบต้องหาสาเหตุแล้ว  


ในส่วนของอาการคอเกร็งนั้น ผู้ป่วยต้องสำรวจตัวเองว่าปวดในระดับไหน เช่นระดับที่เราทนได้โดยไม่ต้องทานยา ไม่ต้องกายภาพ พวกนี้ไม่ต้องรักษาก็ได้ แต่ถ้าปวดในระดับที่ต้องทานยาและกายภาพตลอด ก็ควรต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม  หรือหากมีอาการอ่อนแรง เช่น กำมือลำบาก กำมือแล้วไม่แน่นเหมือนเดิม จับของแล้วหล่น หรือรู้สึกว่าแขนทั้ง 2 ข้างมีขนาดไม่เท่ากัน เนื่องจากกล้ามเนื้อข้างที่อ่อนแรงฝ่อ วิธีสังเกตคือ ดูแขนของตัวเองว่า กล้ามเนื้อลีบ หรือเหลวลงหรือไม่ ในขณะที่อาการหลักๆ ของคอเกร็งนั้น นพ.เมธียังเผยว่า ผู้ป่วยจะมีอาการปวดคอ ปวดคอลงสะบัก แล้วร้าวมาที่บริเวณกราม หรือร้าวลงแขน นั่นคืออาการที่เด่นชัดของการกดทับของเส้นประสาทร่วมด้วย 


ขณะที่ระยะเวลาในการสังเกตอาการด้วยตัวเองนั้น คือ 1 เดือน ถ้าปวดมาเกิน 1 เดือนก็ควรได้รับการรักษาเพราะไม่สามารถหายเองได้ ส่วนใหญ่คนที่มีอาการปวดเกิน 1 เดือน แสดงว่าร่างกายได้ผ่านการฟื้นฟูตัวเองไปแล้ว เพราะถ้าหากมีอาการอ่อนแรงแล้วปล่อยทิ้งไว้ จนเกิดการทับเส้นประสาทนานเกิน 6 เดือน การฟื้นตัวของเส้นประสาทอาจะไม่สามารถแก้ไขได้


สำหรับการวินิจฉัยนั้น นพ.เมธี เผยว่า ผู้ป่วยมากกว่า 90% ที่เป็นๆ หายๆ โดยมีการกดทับเส้นประสาทที่บริเวณคอ จะให้ผู้ป่วย X-ray ร่วมกับการทำ MRI เพื่อทำให้เห็นรอยกดทับที่ชัดเจน ซึ่งรอยกดทับนี้จะสอดคล้องกับอาการปวดของผู้ป่วย แล้วเราก็เข้าไปแก้ตรงจุดที่เป็นปัญหานั้น อาการของผู้ป่วยก็จะหาย 


นพ.เมธี ฝากทิ้งท้ายว่า “คอเกร็ง” เป็นอาการป่วยเรื้อรัง อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้ามากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ นอนแล้วปวดตลอด ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต ต้องรีบรักษาโดยเร่งด่วนเพราะจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง  

โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง  ปรึกษา โทร. 02 034 0808




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad