ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร โดย (พุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม ผศ. ดร. เชิดศักดิ์ ทัพใหญ่ รศ. ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท) ได้รับรางวัลนำเสนอผลงานดีเด่นภาคบรรยาย “ความหลากหลายทางชีวภาพของมันป่าทรัพยากรไทยสู่ความมั่นคงทางอาหาร” ในงานประชุมวิชาการ และนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : 30 ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้ แก่มหาชน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19–25 กันยายน 2565 ณ มหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ที่มาและความสำคัญ
ความหลากหลายทางชีวภาพ,มันป่า,ความมั่นคงทางอาหาร ประเทศไทยอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของระบบนิเวศน์ของป่าหลายประเภท มีพรรณพืชหลากหลายชนิด ในปัจจุบันพื้นที่ป่ามีจำนวนลดลงจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ล้วนทำให้พรรณพืชที่มีการใช้ประโยชน์มีน้อยหรือถูกทำลายลง การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพมันป่าเป็นการสำรวจและศึกษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพืชที่มีในท้องถิ่น ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงมีพระราชดำริ และดำเนินงานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) และการจัดตั้งธนาคารพืชพรรณ ทรงสนับสนุนให้มีการรวบรวมพันธุ์พืชเฉพาะถิ่น พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนประโยชน์ของพืชชนิดต่างๆ การทำเกษตรกรรม การแผ้วถางเพื่อปลูกพืชและภัยจากธรรมชาติ ล้วนแต่ทำให้พื้นที่ป่าแหล่งอาศัยมีจำนวนลดลง การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดมันป่าและการนำมาใช้ประโยชน์เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรพืชดังกล่าว
มันป่าหรือพืชวงศ์กลอย (Dioscoreaceae) อยู่ในสกุล Dioscorea วงศ์ Dioscoreaceae ลักษณะลำต้นเลื้อยพัน ใบเลี้ยงเดี่ยว ดอกแยกเพศต่างต้น ทั่วโลกมีจำนวนประมาณ 350-440 ชนิด (Caddick et al,2002 ; เกศริน,2556) มีการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเป็นพืชอาหารและพืชสมุนไพร โดยชนิดที่รับประทานเป็นอาหารได้ทั่วโลกมีรายงานประมาณ 60 ชนิด (Martin, 1974 ; เกศริน, 2556) สำหรับในประเทศไทย วิลกิ้นและทัพใหญ่ (Wilkin & Thapyai,(2009) รายงานว่าพบพืชวงศ์กลอย สกุล Dioscorea จำนวน 42 ชนิด และมีชนิดที่รับประทานได้ 22 ชนิด โดยพบกระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนชื้น ทั้งในบริเวณที่ชุ่มชื้นจนถึงพื้นที่แห้งแล้ง มีศูนย์กลางการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่มีการแพร่พันธุ์ถึงเขตอบอุ่นและเขตหนาว
นอกจากนี้ยังมีมันป่าชนิดที่หายาก คือ มันหนอน (D.arachidna Prain & Burkill) ซึ่งมีจำนวนน้อยในธรรมชาติ และเป็นพืชที่พบได้ในเฉพาะถิ่น (เชิดศักดิ์,2555) พืชวงศ์กลอยในประเทศไทยพบกระจายตั้งแต่ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง พื้นที่รกร้าง พื้นเปิดโล่งจากกิจกรรมของมนุษย์ ไปจนถึงบริเวณชายฝั่งทะเลหรือลานหินที่แห้งแล้ง (Wilkin & Thapyai,2009) สำหรับมันป่าที่คนไทยนิยมนำมารับประทาน ได้แก่ กลอย (D.hispida Dennst.) มันอ้อนหรือมันมือเสือ (D.esculenta (Lour.) Burkill) และมันเลือดหรือมันเสา (D.alata L.) เป็นต้น (เชิดศักดิ์,2555) แต่สำหรับกลอยจะต้องนำไปล้างสารพิษในหัวก่อน โดยหั่นเป็นชิ้นบางๆ นำไปแช่น้ำไหลผ่านหรือต้มในน้ำเกลือโดยเปลี่ยนน้ำหลายครั้ง (Flach and Rumawas,1996),มันป่าที่บริโภคส่วนใหญ่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น มันเลือด ซึ่งมีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม สารแอนโทไซยานิน และแคโรทีนอยด์ (รงรอง, 2560) ในส่วนของการจำแนกชนิดทำได้โดยอาศัยลักษณะการเลื้อยพันของลำต้น ลักษณะของลำต้น ใบ ช่อดอก ผล และเมล็ด (เชิดศักดิ์,2560)
วัตถุประสงค์
1.เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี (อพ.สธ.)
2.เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ของมันป่า (Dioscorea) ในเขตภาคเหนือตอนล่าง
3.เพื่อรวบรวมสายพันธุ์มันป่าสำหรับเป็นธนาคารพันธุกรรมพืช
ประเด็นปัญหาก่อนการวิจัย
มันป่า เป็นพืชที่อยู่ในสกุล Dioscorea หรือวงศ์ Dioscoreaceae มีประมาณ 630 ชนิดในประเทศไทยมีรายงานการศึกษาทบทวนพืชในสกุลนี้ พบจำนวน 42 ชนิด ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้เป็นพืชอาหาร แต่รายงานเกี่ยวกับการนำมาใช้เป็นพืชสมุนไพรยังมีจำนวนน้อยชนิด ที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์แผนไทยมีทั้งสิ้น 3 ชนิด คือ D.bulbifera L.,D. hispida Dennst. และ D. membranacea Pierre ex Prain & Burkill และมีเพียง 1 ชนิดที่มีรายงานการวิจัยสนับสนุนฤทธิ์ทางชีวภาพ คือ D.membranacea Pierre ex Prain & Burkill มันป่าเป็นพืชที่มีเถาเลื้อยมีลำต้นสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน น้ำตาลและวิตามิน และมีสารสำคัญ เช่น saponin tanin diosgenin dioscorealide เป็นต้น มันป่าพืชที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตง่าย จึงเป็นอาหารเสริมหรือทดแทนอาหารอื่นในประเทศที่เกิดภาวะประชากรเพิ่มขึ้นหรืออาหารขาดแคลน ประกอบกับในปัจจุบันพืชพรรณชนิดต่างๆ ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน และภาวะโลกร้อน เป็นต้น ส่งผลให้พืชหลายชนิดสูญพันธุ์และไม่สามารถขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ เก็บรวบรวมพันธุ์ การศึกษาวิธีเพาะปลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของมันป่า และการส่งเสริมความรู้จากการใช้ประโยชน์จากพืชดังกล่าวเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
การแก้ปัญหาโดยใช้งานวิจัย
สำรวจและศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดมันป่า ข้อมูลการแพร่กระจายพันธ์ แหล่งอาศัย การรวมรวมพันธุ์ การขยายพันธุ์ และการนำมาใช้ประโยชน์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง การถ่ายทอดองค์ความรู้ ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร นิสิต นักศึกษาและผู้ที่สนใจ
ข้อค้นพบ สำรวจมันป่าในเขตภาคเหนือตอนล่าง จำแนกชนิดด้วยลักษณะสัณฐานวิทยาและเครื่องหมายดีเอ็นเอชนิดไมโครแซทเทลไลท์พบ มันป่าทั้งสิ้น 13 ชนิด จากทั้งหมด 42 ชนิด ที่มีรายงานการพบในประเทศไทย ได้แก่ ได้แก่ กลอย,มันกะทาด,กลิ้งกลางดง,มันดง,มันแดงดง,มันเทียน,มันแซง,มันเลือด,ยั้ง,มันหนอน,มันหนอนใบเกลี้ยง,มันมือเสือ และมันคันขาว มีการใช้ประโยชน์ 7 ชนิด โดยแบ่งเป็นการใช้ประโยชน์ทางอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ กลอย,มันเลือด,มันแซง,มันมือเสือ และมันคันขาว โดยมีการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพร 2 ชนิด ได้แก่ กลิ้งกลางดงและยั้ง
มันป่าที่ใช้เป็นอาหาร คือ 1.กลอย (D.hispida Dennst.),2.มันเลือด (D.alata L.),3.มันแซง (D.oryzetorum Prain & Burkill),4.มันมือเสือ (D.esculenta (Lour.) Burkill และ 5.มันคันขาว (D.pentaphylla L.)
มันป่าที่ใช้เป็นสมุนไพร 1.กลิ้งกลางดง (D. bulbifera L.),2.ยั้ง (D.birmanica Prain & Burkill) การจำแนกความหลากหลายทางชีวภาพของมันป่าด้วยเครื่องหมายดีเอ็นเอชนิดไมโครแซทเทลไลท์ โดยใช้เทคนิคปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (PCR) โดยใช้ไพรเมอร์ UBC822
ข้อเสนอแนะและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
จากการศึกษาทำให้เห็นความหลากหลายของชนิดมันป่าในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยมีการนำไปใช้ประโยชน์ทางอาหารและสมุนไพร มันป่าบางชนิดได้รับความนิยมในการบริโภคแต่ไม่มีการปลูกเป็นระบบ เนื่องจากไม่ค่อยมีแหล่งต้นพันธุ์ เช่น มันแซง จึงควรส่งเสริมการขยายพันธุ์ และการเก็บรักษาผลผลิต หรือชนิดที่เป็นที่รู้จัก เช่น กลอย ที่รสชาติดี แต่ต้องล้างสารพิษในหัวออกก่อนบริโภค หากมีกรรมวิธีในการล้างสารพิษออกได้เร็วขึ้น จะทำให้เกิดการปลูกในระบบเกษตรกรรม และการแปรรูปในเชิงอุตสาหกรรม
เอกสารอ้างอิง
เกศริน มณีนูน (2556) สมุนไพรจากพืชสกุลกลอยในตำรับยาแผนไทย-วารสารวิทยาศาสตร์ มข-41(4)-797-807,เชิดศักดิ์ ทัพใหญ่,มานะ จิตฤทธิ์ และเทพณรงค์ ยะสุข. (2555, 26-27 มกราคม)-พืชวงศ์กลอยถิ่นเดียวและหายากของประเทศไทย [เอกสารสัมมนา]-การประชุมสัมมนานิเวศวิทยาป่าไม้,กรุงเทพฯ-เชิดศักดิ์ ทัพใหญ่, มานะ จิตฤทธิ์ และเทพณรงค์ ยะสุข-(2560)-การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของของชนเผ่ามลาบรี กรณีศึกษา : มันป่าบริเวณศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตขุนน้ำสะเนียน-ห้วยลู่ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน วารสารวนศาสตร์, 36(1), 33-46,รงรอง หอมหวล (2560)-มันเลือดมันพื้นบ้านมากคุณประโยชน์-วารสารเกษตรอภิรมย์,3(18),36-38-Burkill, I. H.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น