ดร.จรงค์ศักดิ์ พุมนวน จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า การใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพรด้วยเทคโนโลยี “ไอน้ำสมุนไพร” ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นเทคโนโลยีที่ทีมวิจัยพัฒนามาจากความรู้ของคนในชุมชนบ้านรางยอม ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โดยอาศัยหลักการทำงานเหมือนกับการกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากพืชทั่วไป คือ นำพืชสมุนไพรตามสูตรที่ต้องการ ล้างให้สะอาดแล้วสับให้ละเอียด ผสมกับน้ำสะอาดตามสัดส่วนที่กำหนดใส่ในถังกลั่นให้ความร้อนจนน้ำ เดือด ขณะที่น้ำในถังกลั่นเดือดไอน้ำจะพาน้ำมันหอมระเหยจากพืชออกมาทางท่อซึ่งจะไปผ่านถังควบแน่น ไอน้ำและน้ำมันหอมระเหยจะถูกควบแน่นเป็นของเหลวออกมา ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ได้ไอน้ำสมุนไพรประมาณ 25-30 ลิตร ก่อนนำไปใช้งานต้องมีการผสมกับสารช่วยผสมระหว่างน้ำมันหอมระเหยกับน้ำก่อน
ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ทีมวิจัยได้ดำเนินโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับชุมชนใกล้เคียงที่ด้อยโอกาสทางเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของเกษตรในรูปแบบของกลุ่มเกษตร ให้เกิดความเท่าเทียมทางการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต ปัจจุบันสามารถสร้างศูนย์เรียนรู้และศูนย์การผลิตไอน้ำสมุนไพร ได้ 3 ชุมชนในตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี คือ ชุมชนพึ่งตนเองบ้านนาพระยา กลุ่มบ้านหนองสำโรงพัฒนา และป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี
ดร.จรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า กิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ดังกล่าว สามารถสร้างเครือข่ายการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานในรูปแบบ “ปราชญ์สู่ปราชญ์” จากชุมชนที่เข้มแข็งสู่ชุมชนด้อยโอกาส รวมทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จากการใช้ประโยชน์ไอน้ำสมุนไพรกำจัดแมลงศัตรูพืช ซึ่งมีการวิเคราะห์ศักยภาพการผลิตจากต้นทุนและผลตอบแทนจากผลิตผลทางการเกษตร พบว่าผลผลิตโดยเฉลี่ยต่อไร่ไม่สูงมากนัก ต้นทุนการผลิตสูง ทั้งราคาปุ๋ยและสารเคมีที่ปรับราคาขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนของเกษตรกรในพื้นที่ จึงต้องมีการจัดทำแผนการดำเนินการผลิตไอน้ำสมุนไพรที่ยั่งยืน โดยจะต้องมีระบบการจัดการชุมชนเป้าหมายที่ดี ผู้นำดีน่าเชื่อถือ มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชน มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และต้องมีการวิเคราะห์พืชสมุนไพรและศัตรูพืชที่พบในพืชปลูกในชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงและพัฒนาสูตรตำรับของชุมชนต่อไป นอกจากนี้ยังต้องได้รับคำปรึกษาจากชุมชนต้นแบบและนักวิชาการอย่างใกล้ชิด และต้องมีการจัดการความรู้ที่ดี
จากการอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยี พบว่าผู้เข้าร่วมอบรมมีความพึงพอใจโดยรวมระดับมากที่สุด แสดงให้เห็นว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบปราชญ์สู่ปราชญ์ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับชุมชนเป้าหมาย และยังได้เห็นถึงแผนการดำเนินงานการผลิตไอน้ำสมุนไพรที่อย่างยั่งยืน ภายใต้การจัดการของแต่ละชุมชนอย่างเป็นระบบอีกด้วย
สำหรับการขยายผลในอนาคต นอกจาก 3 ชุมชนข้างต้น ทางชุมชนต้นแบบบ้านรางยอม ยังมีความตั้งใจที่จะเผยแพร่เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้กับชุมชนที่ด้อยโอกาสทางเทคโนโลยีต่อไป ขณะที่ชุมชนเป้าหมายที่ได้รับเทคโนโลยีไปแล้ว จะมีการเผยแพร่เทคโนโลยี และเมื่อเกิดความเข้มแข็งในชุมชนก็สามารถที่จะต่อยอดสร้างเป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบ “ปราชญ์ สู่ ปราชญ์” หรือเพื่อนช่วยเพื่อนต่อไปได้
อย่างไรก็ดีทีมวิจัยเห็นว่าควรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไอน้ำสมุนไพรสำหรับใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช สำหรับชุมชนที่ด้อยโอกาสด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อชุมชนในกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่น ๆ หรือในพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากยังขาดแคลนทุนทรัพย์ในการผลิต “ชุดกลั่นไอน้ำสมุนไพร” ซึ่งหากมีการดำเนินการให้มีความเสมอภาคกันของการใช้เทคโนโลยีนี้ จะสามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรก็จะดีขึ้นตามไปด้วย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น