ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งยากแก่การกำจัดมาเป็นวัตถุดิบราคาสูงในอุตสาหกรรมเวชสำอาง
สำหรับโครงการดังกล่าวมี “ ศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์ ” อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และมีทีมนวัตกร ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. วิวัฒน์ วชิรวงศ์กวิน และรองศาสตราจารย์ ดร. คเณศ วงษ์ระวี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค สวทช.) และ ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง นักวิจัยหลังปริญญาเอก ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร. ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ หนึ่งในทีมนวัตกร ฯ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลในพื้นที่ตำบลแหลมใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้และจ้างงานในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์หอยแมลงภู่ดองและหอยแมลงภู่ตากแห้งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นของพื้นที่ซึ่งวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ตำบลแหลมใหญ่จะจ้างชาวบ้านในพื้นที่แกะเนื้อหอย แล้วรับเนื้อหอยที่แกะแล้วกลับไปแปรรูป ปัญหาที่ตามมาคือขยะจากเปลือกหอยแมลงภู่ ซึ่งมีมากกว่า 50 % ของน้ำหนักหอยแมลงภู่สด
ปัจจุบันการกำจัดเปลือกหอยแมลงภู่มีวิธีเดียวคือการฝังกลบ ชาวบ้านมีปัญหาในการหาพื้นที่ทิ้งเปลือกหอย เพราะการขนย้ายเปลือกหอยไปทิ้งก็มีค่าใช้จ่ายสูง จึงเกิดการทิ้งเปลือกหอยในบริเวณบ้านหรือพื้นที่สาธารณะเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดมลพิษจากกลิ่นเน่าเหม็น ก่อปัญหาสุขภาพ ทัศนียภาพ รวมไปถึงการวางแผนการพัฒนาพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ “การแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง” จึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณขยะเปลือกหอยแมลงภู่ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คณะนักวิจัยได้มีการศึกษาความเป็นไปได้เชิงเทคนิคแล้ว พบว่าสามารถแปรรูปขยะเปลือกหอยแมลงภู่ให้เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตบริสุทธิ์ อัญรูปอะราโกไนต์ ซึ่งขนาดของแผ่นอยู่ที่ 3 – 7 ไมครอน หนา 300 – 500 นาโนเมตร สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเวชสำอาง อุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อทดแทนการนำแคลเซียมคาร์บอเนตคุณภาพสูงจากต่างประเทศ
สำหรับกระบวนการแปรรูป ดร. ชุติพันธ์ กล่าวว่า เป็นกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน ใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์และสารเคมีที่มีในประเทศ สามารถถ่ายทอดให้กับวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยใช้ในการจัดการขยะจากเปลือกหอยเองได้ วิธีการที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการสร้างของเสีย (Zero Waste Process) เพราะสามารถแปรรูปสารเคมีที่เหลือจากกระบวนการผลิตให้เป็นปุ๋ยสำหรับภาคการเกษตรได้ทั้งหมด
ส่วนผลิตภัณฑ์แคลเซียมคาร์บอเนตที่ผลิตได้ สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในสินค้า OTOP ได้หลากหลาย ซึ่งคณะนักวิจัยได้นำต้นแบบผลิตภัณฑ์ฯ มาจัดแสดงในงานวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ อย่างเช่น สบู่ขัดผิวผสมผงประกายมุก ซึ่งเป็นการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่ ให้เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตบริสุทธิ์ ที่มีคุณภาพสูง สามารถกระจายตัวได้ดีในวัตถุดิบสำหรับทำสบู่ และทำให้เกิดฟองขนาดเล็ก ทำความสะอาดผิวได้ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีโลชั่นบำรุงผิวผสมผงมุก ที่เพิ่มความขาวกระจ่างใสให้ผิว โดยไม่ทำให้ผิวระคายเคืองเนื่องจากเป็นวัสดุจากธรรมชาติ มีคุณสมบัติสะท้อนรังสี UVB ได้ดี และผลิตภัณฑ์ทรายอะราโกไนต์จากเปลือกหอยแมลงภู่ สำหรับตู้ปลาสวยงาม ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนปะการัง ช่วยปรับสภาพน้ำให้มีความเหมาะสมกับการเลี้ยงปลาทะเลสวยงามอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น