สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประกวด “ผลงานประดิษฐ์คิดค้น” เพื่อขอรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานฯ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช. 1 เพื่อเป็นเวทีให้นักประดิษฐ์ นักวิจัย และเยาวชนนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน โดยมีผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ เข้าร่วมประกวดกว่า 100 ผลงาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีภารกิจสำคัญที่มุ่งส่งเสริม สร้างแรงจูงใจและช่วยผลักดันการพัฒนาศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทยให้สามารถพัฒนาผลงาน กระบวนการหรือนวัตกรรมที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ ซึ่งกิจกรรม “งานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น” เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาให้รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ได้แบ่งรางวัลออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น
ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ เป็นส่วนของรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ที่เป็นเวทีที่ให้นักประดิษฐ์ได้นำผลงานการประดิษฐ์คิดค้นออกเผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และเพื่อให้คณะทำงานพิจารณาประเมินรางวัลฯ ได้ซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับผลงานเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้นักประดิษฐ์ได้มีโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนพูดคุยประสบการณ์เพื่อนำไปพัฒนาผลงานต่อไป
ส่วนผู้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2567 จะเข้ารับรางวัลในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567” ซึ่ง วช. จัดขึ้นในวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2667 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
สำหรับการจัดกิจกรรม “งานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น” ประจำปีงบประมาณ 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช. 1 และบริเวณโถง ชั้น 1 อาคาร วช. 4 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีผลงานเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ จำนวนกว่า 144 ผลงาน จาก 9 สาขาวิชาการ ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย สาขาปรัชญา สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ สาขาการศึกษา และสาขาสังคมวิทยา โดยเป็นผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมประกวด จำนวนกว่า 48 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการฝึกอบรมการถ่ายทอดองค์ความรู้พื้นที่ปลูกพืชในเมือง ณ ศูนย์เกษตรวิถีเมือง วช.ด้านข้าง อาคาร วช.5 และกิจกรรมเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ “การวางต้นไม้ลดฝุ่นและใบไม้ช่วยลดฝุ่น” ณ สวนภูมิทัศน์พรรณไม้ลด PM 2.5 หน้าอาคาร วช. 2
ตัวอย่างผลงานวิจัยที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ อาทิ ผลงานวิจัยเรื่อง “แอมโมเนียมเซนเซอร์แบบพกพา” ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงานวิจัยเรื่อง “คูริวอยซ์ : เครื่องบันทึกเสียงเคาะทุเรียนด้วยระบบตัดเสียงรบกวน เพื่อการวิเคราะห์ความบริบูรณ์ด้วยปัญญาประดิษฐ์” ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานวิจัยเรื่อง “เครื่องต้นแบบสกัดสารไมทราไจนีนจากใบกระท่อมพลังงานร่วม โดยใช้เทคนิคสนามไฟฟ้าพัลส์และอัลตร้าโซนิค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานวิจัยเรื่อง “อินโนแซค : ยีสต์ทนความร้อนที่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยแป้งที่ผิวเซลล์สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตเอทานอลชีวภาพ จากมันสำปะหลังแบบขั้นตอนเดียว ของ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเกมกายภาพบำบัด สำหรับฝึกทักษะผู้ป่วยอัมพฤกษ์ ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง ของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น