ปวดหลังขณะเปลี่ยนอิริยาบถ ส่งสัญญาณเตือนภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน! - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ปวดหลังขณะเปลี่ยนอิริยาบถ ส่งสัญญาณเตือนภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน!


แพทย์เฉพาะทางแนะหากมีอาการ “ปวดหลัง” ขณะที่เปลี่ยนอิริยาบถควรพบแพทย์ด่วน นั่นถือเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็นโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน    

อาการ “ปวดหลัง” ส่วนมากสาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อประมาณ 70-80% นอกจากนั้นจะเกิดจากปัจจัยอื่น เช่นหมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อน และเนื้องอกที่กระดูกสันหลัง แล้วเราจะแยกได้อย่างไรว่าอาการปวดในแต่ละแบบเกิดมาจากกล้ามเนื้อหรือเกิดจากกระดูกสันหลังเคลื่อน หากคุณมีอาการปวดขณะนั่งทำงานนาน นั่งขับรถเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไปจนเกิดการฉีกขาด สามารถรับประทานยาแก้ปวด หรือยาแก้อักเสบ แล้วอาการดังกล่าวหายไป สามารถสันนิษฐานได้ว่าอาการปวดเกิดจากกล้ามเนื้อ แต่เมื่อใดที่มีอาการปวดขณะเปลี่ยนท่า หรือเมื่อเดินไปได้สักระยะแล้วเกิดอาการปวดร้าวลงขา โดยที่ผ่านมาเคยเดินได้ระยะทางไกลๆ แต่ปัจจุบันเริ่มเดินได้ระยะทางสั้นลงเรื่อยๆ อาการเหล่านี้กำลังบ่งชี้ว่าภาวะกระดูกสันหลังของคุณกำลังประสบปัญหา ต้องรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างเร็วที่สุด


นพ.ชุมพล คคนานต์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ
เผยว่า “กระดูกเคลื่อน” เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากระดูกสันหลังเคลื่อน หรือข้อกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) เกิดได้จากข้อกระดูกสันหลังข้อใดข้อหนึ่งเคลื่อนออกจากแนวกระดูกสันหลังไปทางด้านหน้า โดยที่กระดูกสันหลังสามารถเคลื่อนได้ทุกส่วน แต่โดยส่วนใหญ่จะเกิดที่บริเวณหลังส่วนล่าง หรือระดับ L4-L5 ทำให้คุณมีอาการปวดหลังจนทรมาน โดยเฉพาะเมื่ิอเวลาขยับตัวหรือเปลี่ยนท่าทาง ภาวะกระดูกเคลื่อนนี้มักเกิดการตีบแคบของโพรงเส้นประสาทร่วมด้วย 


อย่างไรก็ตาม นพ.ชุมพล ยังเผยว่าโดยปกติแล้วภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน เกิดจากหมอนรองกระดูกเสื่อมเป็นส่วนใหญ่ เพราะโครงสร้างของกระดูกจะตั้งตรงได้ ต้องอาศัยความแข็งแรงของตัวหมอนรองกระดูก 60-70% แต่ถ้าหมอนรองกระดูกเสื่อมก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนได้ 


ขณะที่อาการทั่วไปของผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนมักประกอบด้วย 2 อาการหลัก ได้แก่ อาการปวดหลังและอาการปวดร้าวลงขา ซึ่งทั้งสองอาการนี้ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกันก็ได้ แม้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการทั้งสองอย่างร่วมกัน แต่อาจจะแตกต่างกันตรงที่ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการหลัก คือ อาการปวดหลัง ในขณะที่บางรายอาจมีอาการหลักคือ อาการปวดร้าวลงขาก็ได้

การวินิจฉัย แพทย์จะส่งตัวผู้ป่วยไป X-ray ร่วมกับการทำ MRI เพื่อตรวจสอบว่ากระดูกสันหลังเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทอยู่ในระดับใด ขณะที่การรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนโดยไม่ต้องผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรงในการเคลื่อนของกระดูกสันหลัง หากระดับของการเคลื่อนไม่เกิน 25% สามารถรักษาได้ดังนี้


- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ที่ส่งผลทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนเพิ่ม เช่น การยกของหนัก

- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน

- ใช้ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs ตามแพทย์สั่ง

- ฉีดยาระงับการอักเสบที่โพรงเส้นประสาทไขสันหลัง

- ทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลาง


หากอาการยังไม่ทุเลาลงและระดับการเคลื่อนของแนวกระดูกสันหลังมากกว่า 25%ขึ้นไปแพทย์จะวินิจฉัยให้เข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีการยึดนอต ในอดีตจะเป็นการรักษาโดยการเปิดแผลขนาดใหญ่ เนื่องจากเทคโนโลยียังไปไม่ถึง ทำให้การผ่าตัดในแต่ละครั้งมีความเสี่ยงสูง ส่งผลให้เส้นประสาทบาดเจ็บได้ง่าย เสียเลือดเยอะ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง แต่ในปัจจุบันการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกโดยใช้กล้องเอ็นโดสโคป ด้วยเทคนิค Full Endo TLIF ที่รพ.เอส สไปน์แอนด์ เนิร์ฟ เลือกใช้ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย บาดเจ็บลดลง โอกาสที่จะทำให้เส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บก็มีน้อย และอาการปวดแผลของผู้ป่วยลดลงเมื่อเทียบกับการรักษาแบบเดิมหลายเท่า


นอกจากนี้ นพ.ชุมพล คคนานต์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์เนิร์ฟ ยังทิ้งท้ายถึงวิธีป้องกันโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนไว้ว่า หมั่นออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว และก่อนหรือหลังเล่นกีฬาควรยืดกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนการออกกำลังกายเสมอ ที่สำคัญควรจำกัดระยะเวลาในการเล่นกีฬาประเภทที่เพิ่มแรงตึงให้กับกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องใช้การบิดตัวมากๆ เช่น กอล์ฟ เทนนิส ยิมนาสติก หรือยกน้ำหนักเพราะอาจเสี่ยงเกิดกระดูกสันหลังเคลื่อนได้


โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ปรึกษา  โทร.02 034 0808


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad