ม.มหิดลค้นพบ PM2.5 เสี่ยงกระดูกพรุนจากภาวะอักเสบในหนูทดลอง - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567

ม.มหิดลค้นพบ PM2.5 เสี่ยงกระดูกพรุนจากภาวะอักเสบในหนูทดลอง

ในขณะที่ PM2.5 ปกคลุมโลก ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาวะ ที่คุกคามต่อการเกิดโรคต่างๆ 


รวมถึงความเสี่ยงกระดูกพรุนจากภาวะอักเสบทั่วร่างกาย ที่ค้นพบจากการวิจัยในหนูทดลอง โดย หน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก (COCAB - Center of Calcium and Bone Research) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิจัยคุณภาพจากภาควิชาสรีรวิทยา ที่ร่วมศึกษาวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยห่างไกลโรคกระดูกพรุนกันมาอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และยาวนาน

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าหน่วยวิจัย COCAB ได้ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ณัฐพล ภาณุพินธุ หัวหน้าหน่วยสัตว์ทดลอง งานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาวิจัยจนค้นพบว่า PM2.5 เสี่ยงกระดูกพรุน  จากภาวะอักเสบในหนูทดลอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ณัฐพล ภาณุพินธุ

ภายใต้ข้อสันนิษฐานถึงกลไกการเกิดโรคกระดูกพรุนจากการเสื่อมสลายของมวลกระดูก มีสาเหตุสำคัญจากการอักเสบ เนื่องจากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันต้องต่อสู้กับฝุ่น PM2.5 ที่รับเข้ามาทางปอดและกระจายไปทั่วร่างกาย ไปเร่งให้เกิดกระบวนการอักเสบดังกล่าว ซึ่งจากการติดตามในหนูทดลองที่ได้รับฝุ่น PM2.5 พบการเพิ่มจำนวนขึ้นของเซลล์สลายกระดูก ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีต้นกำเนิดจากเม็ดเลือดขาวบางชนิด มีส่วนสำคัญที่ทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างต่อเนื่อง เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน


ฝุ่น PM2.5 ที่กำลังคุกคามสุขภาวะมนุษย์มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ทั้งในเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น และพื้นที่โล่งที่มีการเผา ตัวฝุ่นอาจประกอบด้วยอนุภาคของสารเคมีหลากหลายชนิด ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย ฝุ่น PM2.5 ไม่เพียงเข้าสู่ร่างกายทางปอด แต่ยังสามารถผ่านเข้าทางผิวหนัง และทางเดินอาหารได้ องค์ประกอบหลายชนิดในฝุ่นยังอาจทำให้โรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคปอด โรคทางเมแทบอลิซึม รุนแรงมากยิ่งขึ้น


การค้นพบอันตรายของฝุ่น PM2.5 ต่อกระดูกกำลังอยู่ระหว่างการเสนอตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อขยายผลต่อยอดสู่การค้นหาแนวทางป้องกันและรักษา เพื่อลดความเสี่ยงกระดูกพรุน และอาการอักเสบรุนแรง จากวิกฤติ PM2.5 ที่โลกกำลังเผชิญ เพื่อเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มการเฝ้าระวังต่อไป


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad