องค์การเภสัชกรรมจัดกิจกรรม ชวนผู้สูงวัยเข้าใจโรค NCDs เสริมภูมิต้านทาน ห่างไกลโรคร้ายอย่างยั่งยืน - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568

องค์การเภสัชกรรมจัดกิจกรรม ชวนผู้สูงวัยเข้าใจโรค NCDs เสริมภูมิต้านทาน ห่างไกลโรคร้ายอย่างยั่งยืน

องค์การเภสัชกรรมจัดกิจกรรม ชวนผู้สูงวัยเข้าใจโรค NCDs เสริมภูมิต้านทาน ห่างไกลโรคร้ายอย่างยั่งยืน

องค์การเภสัชกรรม (GPO) จัดกิจกรรม “สูงวัย เข้าใจโรค NCDs” รณรงค์ให้กลุ่มผู้สูงวัยตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ผ่านการส่งเสริมความรู้ การใช้ยาอย่างถูกต้อง และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน ร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ณ สวนโมกข์กรุงเทพ

ภญ.วิลักษณ์ วังกานนท์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวว่า “การจัดกิจกรรม “สูงวัย เข้าใจโรค NCDs” มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงวัยหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันและจัดการกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และกระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากถึง 74–76% ของคนไทยทั้งหมดต่อปี หรือกว่า 320,000 คน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งมีแนวโน้มเป็นโรคเหล่านี้มากที่สุด — เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งมีผู้ป่วยกว่า 14 ล้านคนในประเทศไทยมีภาวะความดันโลหิตสูง และอีก 6.5 ล้านคนเป็นเบาหวาน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะโรคที่เกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การขาดการออกกำลังกาย และการไม่เข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ (ที่มา: รายงาน NCDs ของ WHO ประจำประเทศไทย และแผนยุทธศาสตร์การจัดการโรคไม่ติดต่อ พ.ศ. 2565–2570 กระทรวงสาธารณสุข) การจัดงานในวันนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมองค์ความรู้ และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงวัยหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น และสามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมในระยะยาว”


โดยภายในงานจัดให้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในวงการการแพทย์ และอินฟลูเอนเซอร์สายสุขภาพ แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ 

รศ.นพ.ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล 

1) “การรักษาและดูแลโรค NCDs” โดย รศ.นพ.ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มาร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือด ซึ่งถือเป็น 3 โรคฮิตที่มักพบในผู้สูงอายุ พร้อมวิธีการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง และโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันโรค ตลอดจนมีการสอดแทรกการทำกิจกรรมประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ให้ผู้ร่วมงานได้เช็คสุขภาพของตัวเองได้ง่ายๆ 

ภก.รัฐพงษ์ พงษ์ประเสริฐ เภสัชกรจากองค์การเภสัชกรรม 

2) “การใช้ยาให้ปลอดภัย ลดอาการของโรค NCDs” โดย ภก.รัฐพงษ์ พงษ์ประเสริฐ เภสัชกรจากองค์การเภสัชกรรม ซึ่งชวนผู้เข้าร่วมงานไปสำรวจพฤติกรรมของตัวเองว่าใครเคยหรือกำลังมีพฤติกรรมใช้ยาเหล่านี้หรือไม่ ได้แก่ ยาที่ใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, ระดับไขมันในเลือด และความดันโลหิต 

และให้ความรู้เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยมีความรู้เท่าทันการทำงานของยาผลข้างเคียง ตลอดจนสามารถสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ  

3) “สร้างแรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริง” โดย คุณอรนรินทร์ มุณีรภัสสิทธิ์ TikToker วัย 60+ เจ้าของช่อง “อร ลูกเทรนแม่เล่นกล้าม” ที่ถ่ายทอดประสบการณ์จากชีวิตจริงที่เปลี่ยนแปลงสุขภาพด้วยการลุกขึ้นมาออกกำลังกาย พร้อมสาธิตท่าบริหารร่างกายง่าย ๆ สำหรับผู้สูงวัยที่สามารถทำได้เองที่บ้าน พร้อมปลุกพลังบวกให้ผู้สูงอายุหันมาใส่ใจสุขภาพเพื่อดูแลตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน

นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมเพื่อสุขภาพมากมายให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีส่วนร่วม อาทิ บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นฟรีโดยทีมกายภาพบำบัด จากคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล, Workshop DIY : น้ำมันจากไพล, บูธผลิตภัณฑ์สุขภาพ-อาหารเสริม รวมถึงกิจกรรมบิงโกสุขภาพที่สร้างความสนุกสนาน และลุ้นรับรางวัลสุขภาพมากมาย

องค์การเภสัชกรรมหวังว่า กิจกรรมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงภัยเงียบของโรค NCDs และหันมาใส่ใจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การเภสัชกรรม พร้อมเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง ปลอดภัย และเข้าถึงได้ง่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารสุขภาพและกิจกรรมดี ๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.gpo.or.th และช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ขององค์การเภสัชกรรม หรือสอบถามข้อมูลและปรึกษาปัญหาด้านยาได้ที่ Contact Center : 1648







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad