สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย นำโดย ฯพณฯ นายยอน ธอร์กอร์ด เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทยร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและ โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา ประเทศไทย จัดงานเสวนาในหัวข้อ Urbanization and Obesity ชีวิตคนเมืองกับเรื่องโรคอ้วน โดยมีองค์กรต่างๆ เข้าร่วมเสวนา อาทิ เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย, กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย / สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก
สำหรับการจัดงานเสวนา “Urbanization and Obesity” ชีวิตคนเมืองกับเรื่องโรคอ้วน ในครั้งนี้เป็นการร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์โรคอ้วนในปัจจุบัน เนื่องจากคนในเมืองมีโอกาสที่จะมีภาวะอ้วนลงพุงเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาของโรคอ้วน และนโยบายในเชิงส่งเสริมสุขภาพและการรักษาโรคอ้วน จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนา เพื่อให้เกิดความร่วมมือและลงมือแก้ไขในทุกระดับ และเป็นการป้องกันปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพให้กับคนในชุมชน และครอบครัว
ฯพณฯ นายยอน ธอร์กอร์ด เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย เผยว่า “ปัญหาหลักของวิถีคนเมืองในปัจจุบันคือ ปัญหา “โรคอ้วน” เนื่องจากการอยู่ในเมืองมีสิ่งอำนวยความสะดวกทำให้การเคลื่อนไหวของเราน้อย มีการออกกำลังกายน้อย ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาของทั่วโลกในประเทศเดนมาร์กเองมีปัญหาเรื่องนี้กับคนเมืองมากถึง 20% ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ปัจเจกบุคคล แต่กระทบถึงสังคมโดยรวม กระทบถึงปัญหาแรงงาน รวมไปถึงการทำงานต่าง ๆ และบรรทัดฐานของสังคมที่สร้างแรงกดดันให้กับคนที่เป็นโรคอ้วนขาดความมั่นใจ ทำให้เราต้องเร่งหาทางแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาประเทศเดนมาร์กได้เล็งเห็นถึงปัญหาจุดนี้ได้เริ่มมีการรณรงค์ให้คนไม่ใช้รถตั้งแต่ปี 2555 โดยตั้งเป้าไว้ที่ 75% โดยได้มีการสนับสนุนให้คนหันมาใช้รถสาธารณะ การเดินเท้า และการปั่นจักรยาน มีการทำซุปเปอร์ไฮเวย์เส้นทางสำหรับปั่นจักรยานโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายด้วย ทำให้ตอนนี้ผู้ป่วยโรคอ้วนลดลง ซึ่งส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยก็น่าจะทำได้ถึงแม้อากาศที่นี่จะร้อน ถ้าทุกฝ่ายหาทางออกในการสนับสนุนเรื่องนี้ร่วมกัน น่าจะทำให้คนเมืองได้ออกกำลังกายมากขึ้น จึงเป็นวัตถุประสงค์สำหรับการจัดงานครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการร่วมพูดคุยถึง สถานการณ์โรคอ้วนในปัจจุบัน ที่ทำให้คนในเมืองมีโอกาสที่จะมีภาวะอ้วนลงพุงได้มาก และร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง”
นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ตอนนี้ประเทศไทยเรามีภาวะโรคอ้วนทั่วประเทศจากการสำรวจในปี 2562-2563 โดยใช้เกณฑ์การวัดค่าดัชนีมวลกายที่ใช้น้ำหนักหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง พบว่าร้อยละ42 ของคนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไปมีปัญหา โรคอ้วน หรือ BMI เกิน25 kg/m2 โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครมีอัตราอ้วนสูงที่สุดถึงร้อยละ47 เนื่องจากสิ่งที่แวดล้อมที่เรามีเป็นปัจจัยสำคัญ เช่นมีอาหารการกินมีพลังงานสูงและเข้าถึงได้ง่าย มีความเจริญของเมืองที่คอยอำนวยความสะดวก ทำให้เราเคลื่อนไหวร่างกายและเอาไขมันไปใช้น้อยลง จึงอยากให้ทุกคนตระหนักว่าอ้วนที่ไม่ใช่แค่ความสวยงามของรูปร่าง แต่อ้วนเป็นความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สำหรับแนวทางตอนนี้กระทรวงสาธารณสุข และอีกหลายหน่วยงานได้ลงมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก การขับเคลื่อนจะทำเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ จำเป็นต้องให้ทุกหน่วยงานรวมถึงองค์กร บริษัท ต่าง ๆ รวมถึงคนไทยทุกคน ที่เห็นถึงความสำคัญและตระหนักว่า ความอ้วนคือโรคอันตรายและบางส่วนต้องได้รับรักษา
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เผยต่อว่า “เกณฑ์การประเมิน "โรคอ้วน" แบบใหม่ ไม่ใช่แค่ตรวจดัชนีมวลกายเพียงอย่างเดียว แต่ต้อง "วัดรอบเอว" ก่อนหน้านี้เราใช้มาตรฐานวัดภาวะอ้วนลงพุงด้วยเส้นรอบเอวที่80 ซม. สำหรับผู้หญิง และ90 ซม.สำหรับผู้ชาย ซึ่งจากการสำรวจในปี 2562-2563 พบว่าคนไทยอ้วนลงพุงจะอยู่ที่ร้อยละ 39 หรือกว่า 22 ล้านคน แต่ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเกณฑ์การวัดรอบเอวซึ่งบ่งชี้ภาวะอ้วนลงพุงใหม่ โดยรอบเอวต้องไม่เกินส่วนสูงหารสอง หากใช้เกณฑ์นี้ คิดง่ายๆว่าคนไทย1ใน2 กำลังอ้วนลงพุง โดยคนกรุงเทพเป็นเมืองที่มีคนอ้วนมากที่สุดถึงเกือบร้อยละ60 นำมาซึ่งกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือโรคแทรกซ้อน ที่ต้องการการดูแลรักษาต่อเนื่องในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันเกาะตับ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด สำหรับทางด้านเศรษฐกิจ จากสถิติพบว่าในประเทศไทยในปี 2560 ต้องสูญเสียเงินถึง 181 ล้านบาทในการดูแลรักษา ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่สูงมาก แต่ที่มากไปกว่านั้นคือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะคนวัยทำงานเป็นผู้ที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศที่เกิดปัญหา จึงทำให้เราต้องตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน”
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวต่อว่า “ชีวิตเราประมาณ 20% อยู่ในการเดินทาง และประมาณ 30% คือไลฟ์สไตล์ทั่วไป ส่วนอีก 50% หลักๆคือการทำงาน ถ้าที่ทำงานไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพ เช่น ห้องอาหารมีอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือที่ทำงานนั่งอยู่กับที่ตลอดเวลาชีวิตจะเนือยนิ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาโดยเฉพาะโรคอ้วน ซึ่งหน่วยงานองค์กร บริษัท ควรให้ความสำคัญกับตรงนี้ด้วยและจัดสรรสนับสนุนให้พนักงานและบุคคลในองค์กรหันมาออกกำลังกาย และเมื่อออกจากที่ทำงานแล้วเดินทางกลับบ้านการเดินทางก็ต้องเอื้ออีก ถ้าเป็นไปได้วิธีที่ดีที่สุด ถ้าเราสามารถเดินกลับบ้าน หรือเดินไปทำงานก็จะเป็นการออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่งเพราะการออกกำลังกายด้วยการเดินมากกว่า 7,000 ก้าวขึ้นไป ช่วยให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้ ดังนั้นสิ่งแรกถ้าสิ่งแวดล้อมเอื้อก็จะทำให้คนทำงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกคนจะต้องมีความตั้งใจ และทัศนคติที่ดีด้วยที่จะออกกำลังกาย นอกจากสิ่งแวดล้อม เราก็ควรที่จะให้ความรู้กับประชาชนด้วยว่า การออกกำลังกาย หรือการบริโภคอาหารที่ดี ล้วนช่วยชีวิตเราได้มากน้อยแค่ไหน และทำให้สิ่งแวดล้อมสมดุลย์ สำหรับคนที่กำลังอยู่ในภาวะอ้วนลงพุง แต่ยังรู้สึกว่ายังมีสุขภาพดียังไม่เจ็บป่วย หรือทางการแพทย์เรียกว่า Metabolically Healthy Obesity มีโอกาสที่จะป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือโรคแทรกซ้อนได้เมื่ออายุมากขึ้นหากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวปิดท้าย “จากตัวเลขคนกรุงเทพมหานครอ้วนลงพุงสูงถึง 56% เป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก ทำให้ผมเล็งเห็นความสำคัญถึงเรื่องนี้ ทำให้นโยบายต่าง ๆ ของผมได้ออกมาตั้งแต่แรกในการดูแลคนเมือง โดยเริ่มจากตัวเองก่อน เมื่อก่อนผมเคยอ้วน ซึ่งตั้งใจว่าจะลดก่อนเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ผมก็ทำได้ ผมคิดว่าทุกสิ่งเราต้องเริ่มจากตัวเอง ให้ความสำคัญกับตัวเองก่อน ทำให้เป็นนิสัย เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเอง สำหรับทางกรุงเทพมหานครเอง ตอนนี้ผมได้มีนโยบายและเล็งเห็นความสำคัญถึงเรื่องนี้ตั้งแต่แรก เราได้มีการลงมือทำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องของการขยายเวลาเปิดปิดสวนสาธารณะ 3 แห่ง ได้แก่ สวนลุมพินี สวนจตุจักร และสวนเบญจศิริ ที่ขยายเวลามาเป็น 04.30-21.30 มีการทำกิจกรรมในสวนสาธารณะทุกเช้า ปรับปรุงทางเดิน-วิ่ง ขยายเส้นทางจักรยาน เชื่อมต่อการเดินทาง สามารถนำจักรยานแบบพับได้ขึ้นรถไฟฟ้า รถประจำทางได้ เป็นการโปรโมทให้คนใช้จักรยานมากขึ้น ซึ่งถ้าคนหันมาใช้จักรยานเดินทางจะทำให้สะดวกสบาย เป็นการออกกำลังกายไปในตัว และนโยบายเมืองเดินได้ ของกรุงเทพมหานครที่ทำการปรับปรุงทางเท้า ให้อยู่ในสภาพดีในถนนหลายสาย โดยสำหรับการเดินทางในเมืองนั้น ระบบเส้นเลือดฝอยที่สำคัญมาก คือ "การเดิน" การเดินนอกจากจะเป็นการเดินทางที่ต้นทุนต่ำที่สุดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดแล้ว ยังช่วยด้านสุขภาพคนเมืองอีกด้วย และนอกจากนี้ยังมีศูนย์โรคอ้วน ให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษา ซึ่งจะอยู่ในความดูแลของแพทย์โดยมี กรุงเทพมหานครเป็นผู้สนับสนุน รวมถึงกิจกรรมโครงการต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้กรุงเทพมหานครได้ทำไปแล้วทุกโครงการ ยังเหลือนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นที่กำลังเร่งดำเนินการ สิ่งเหล่านี้ผมต้องการณรงค์ให้คนในเมืองหันมาออกกำลังกาย มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อตัวเราเอง และคนที่เรารักครับ ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น