นักวิจัย ม.นเรศวร ชูแนวคิด “การพัฒนารูปแบบเรขศิลป์สำหรับขั้นตอนการให้บริการในพื้นที่ให้บริการผู้ป่วยนอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของโรงพยาบาล” - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2565

นักวิจัย ม.นเรศวร ชูแนวคิด “การพัฒนารูปแบบเรขศิลป์สำหรับขั้นตอนการให้บริการในพื้นที่ให้บริการผู้ป่วยนอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของโรงพยาบาล”

โรงพยาบาลไม่ได้มีหน้าที่เพียงรักษาคุณภาพของการรักษาเท่านั้น แต่จะต้องตอบโจทย์ทางสังคมในเรื่องของ การจัดหาสิทธิเรื่องสุขภาพของประชาชนคือ สุขภาวะที่ถูกต้อง ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับมาตรฐานการดูแลด้านสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเข้าถึงได้ง่าย และการให้ความสำคัญกับคน โดยการออกแบบอาคารสถานพยาบาล หากการจัดการภายในอาคารที่วางแผนไม่ดี คนเยอะเกินไป สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย สามารถทำให้เกิดการป่วยเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งมันนำไปสู่อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการออกแบบที่ไม่ดีในสถานพยาบาล  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรัญญา พหลเทพ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการวิจัยกลยุทธ์การปรับสภาพแวดล้อมภายในโรงพยาบาลบริเวณพื้นที่ให้บริการผู้ป่วยนอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภายในโรงพยาบาลภายใต้กรอบการออกแบบเพื่อทุกคนกล่าวถึงงานวิจัยการพัฒนารูปแบบเรขศิลป์สำหรับขั้นตอนการให้บริการในพื้นที่ให้บริการผู้ป่วยนอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของโรงพยาบาล กรณีศึกษาโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)  ว่า ในเชิงกายภาพการออกแบบ และการบริหารจัดการการให้บริการทุกครั้งที่โรงพยาบาลมีการขยาย หรือเพิ่มแผนการให้บริการ หมายถึงเกิดการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ รวมถึงจำนวนผู้ใช้งานในพื้นที่ ดังนั้นกายภาพการออกแบบ และการบริหารจัดการพื้นที่การให้บริการ จึงมีความจำเป็นจะต้องนำมาพิจารณาในทุกครั้งที่สถานพยาบาลมีการขยาย หรือเปลี่ยนแปลงในลักษณะการใช้พื้นที่การให้บริการ เพื่อดำรงประสิทธิภาพการออกแบบอาคารให้สอดคล้อง ควบคู่ไปพร้อมกับพัฒนาการด้านการรักษาพยาบาล

อาคารที่มีการออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพ องค์ประกอบทั้งหมดของการออกแบบกายภาพอาคาร เช่น การกำหนดลักษณะภายนอกและภายใน ผังบริเวณ เส้นทางสัญจร ขนาดพื้นที่ให้บริการ รวมถึงรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ภายในอาคาร จะต้องทำงานเกื้อหนุนกันอย่างเอกภาพ เพื่อตอบสนองประโยชน์ในการประกอบกิจกรรมในพื้นที่อาคาร ซึ่งในกรณีศึกษานี้ การพัฒนาอาคารโรงพยาบาลที่ถือว่าเป็นประเภทมีพื้นที่การใช้งานซับซ้อน และมีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้งานสูง อันเนื่องมาจากความจำเป็นจะต้องแบ่งแยกพื้นที่ออกแบบเป็นแผนกต่าง ๆ ตามความแตกต่างเฉพาะทางการแพทย์ดังนั้นปัญหาที่พบในอาคารโรงพยาบาลส่วนมาก จึงเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนำทางให้ผู้ใช้อาคารไปสู่ที่หมาย รวมถึงการปฏิบัติตามขั้นตอนการเข้าใช้บริการของแต่ละแผนก หากพิจารณากรณีนี้ตามองค์ประกอบ แนวปฏิบัติในการออกแบบอาคารสาธารณะ ระบบการบอกทาง ถือเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ที่มีความสำคัญในการเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยทางร่างกายอยู่แล้ว ให้สามารถไปถึงที่หมาย และเข้าใจลำดับขั้นตอนการให้บริการได้ง่าย ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดภาระบุคคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถปฏิบัติงานได้สะดวกมากขึ้น 

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุญยศักดิ์เสรี อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าโครงกการวิจัยย่อย กล่าวว่า ปัญหาเด่นชัดในเรื่องการออกแบบจัดสร้างตัวป้าย ที่พบในกรณีศึกษานี้ คือ การใช้ขนาดตัวอักษรที่มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้อ่านยาก หรือไม่สามารถอ่านได้จากในระยะที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่ผู้มาใช้บริการ  วัสดุหรือลักษณะการทำป้ายไม่เหมาะสม โดยที่พบในกรณีศึกษานี้ คือ ป้ายชื่อแผนกหลายแผนก เช่น แผนกจ่ายยา 1-2 และแผนกอายุรกรรม เป็นต้น โดยป้ายถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการและวัสดุที่ไม่โดดเด่นเพียงพอ  จึงดูปะปนไปกับป้ายให้ข้อมูลอื่น ๆ ในกรณีนี้ ตามหลักการออกแบบที่ดี  ป้ายชื่อแผนกควรสร้างด้วยวัสดุและการออกแบบที่โดดเด่นกว่าป้ายอื่น ๆ รวมถึงการออกแบบสร้างทางเข้า กรอบประตูทางเข้าแผนกที่มีลักษณะเด่นเพียงพอให้สังเกตได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องอ่านป้ายด้วย ส่วนปัญหาที่พบจากการเลือกใช้โทนสี และการกำหนดโทนสีเพื่อจำแนกป้าย นอกจากค่าความขัดแย้งที่ชัดเจนเพียงพอ ขนาดอักษรและระยะห่างตัวอักษรที่เหมาะสม ตามหลักการออกแบบที่ดีแล้ว การจัดกลุ่มป้ายสำหรับกิจกรรมที่สัมพันธ์กัน หรือที่ตั้งของแผนกที่อยู่ในทิศทางเดียวกัน อาจเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารข้อมูล ซึ่งไม่พบการออกแบบโดยการกำหนดโทนสี หรือลักษณะการออกแบบต่างๆเพื่อจำแนกประเภทป้าย ในกรณีศึกษา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการวิจัยได้ทดสอบการใช้งาน  โดยผู้ใช้อาคารที่มีความสามารถทางร่างกายที่แตกต่างกัน เพื่อให้การวิเคราะห์ปัญหาเป็นปัจจุบัน และครอบคลุมผู้ใช้บริการโรงพยาบาลที่มีความสามารถทางกายได้หลากหลายมากขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้สร้างกิจกรรมจำลองเหตุการณ์ โดยให้ผู้ที่มีความสามารถทางร่างกายหลากหลายมาทดลองเข้าใช้งานอาคาร ทดลองค้นหาแผนกต่างๆภายในบริเวณผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล โดยผู้มาทดสอบประกอบด้วย (1)ผู้ใช้วีลแชร์ (2)ผู้พิการทางสายตา (3)ผู้มีสายตาเลือนลาง (4)ผู้ใช้ไม้ค้ำยัน (5)ผู้สูงวัย (6)ผู้มีข้อบกพร่องทางการได้ยิน (7)ผู้มีร่างกายปกติ ซึ่งระหว่างการทดลองมีการบันทึกเหตุการด้วยภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว และการสัมภาษณ์หลังการทดลอง 

เนื่องจากผู้เข้าทดลองใช้พื้นที่ไม่ได้เป็นผู้มีความรู้ด้านการออกแบบ และการสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางที่ถูกต้อง ในความเป็นจริงอาศัยปัจจัยประกอบอื่นๆที่นอกเหนือจากป้ายและระบบเรขศิลป์ เช่น การถามทาง หรือการสังเกตุจากการรวมตัวของกลุ่มคน รวมถึงลักษณะการตกแต่งที่แตกต่างกันของแต่ละแผนก ดังนั้น เพื่อให้ได้คำตอบที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของระบบแจ้งเส้นทาง และการออกแบบตัวป้าย คำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์จึงเป็นในลักษณะการพูดคุยถึงความพึงพอใจในภาพรวม และสอดแทรกคำถามเชิงเทคนิคเกี่ยวกับตำแหน่งติดตั้ง และกายภาพการออกแบบตัวป้ายการออกแบบในครั้งนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการ และการสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางที่ถูกต้อง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad