ลดการบริโภคโซเดียม(เกลือ) และมาตรการภาษีโซเดียมเพื่อการดูแลป้องกันโรคไต - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ลดการบริโภคโซเดียม(เกลือ) และมาตรการภาษีโซเดียมเพื่อการดูแลป้องกันโรคไต

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 20,000 คนทั่วประเทศ สาเหตุหลักมาจากการบริโภคอาหารที่มีปริมาณโซเดียม(เกลือ)สูงนั่นเอง 


โซเดียม(เกลือ)มีความสัมพันธ์กับหลายโรค เช่น โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต โรคมะเร็งกระเพาะ โรคกระดูกพรุน และโรคอื่นอีกมากมาย ซึ่งโรคเหล่านี้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมากและที่สำคัญคือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตอีกด้วย

 

จากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็มและสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่าคนไทยบริโภคโซเดียม (เกลือ) มากกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำไว้คือ ให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม เกือบ 2 เท่า แต่คนไทยบริโภคโซเดียม (เกลือ) โดยเฉลี่ยประมาณ 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง 

ทั้งนี้รศ. นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับโซเดียม(เกลือ) และโรคไต


อาหารที่มีโซเดียม(เกลือ)สูง มีอะไรบ้าง 

รศ.นพ.สุรศักดิ์  กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่าโซเดียม(เกลือ)มีอยู่ทั้งในอาหารที่เค็มและไม่เค็ม โดยอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงส่วนใหญ่มักมีรสชาติเค็ม แต่ยังมีอาหารที่มีโซเดียมสูงแต่ไม่มีรสชาติเค็ม เรียกว่า โซเดียมแฝง ทำให้เราได้รับโซเดียมโดยไม่รู้ตัว 

 อาหารที่มีโซเดียมสูง ได้แก่ (1)เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น  เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส ผงปรุงรส ซุปชนิดก้อน ผงชูรส (2)อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่ โจ๊ก (3)อาหารแปรรูป เช่น แหนม หมูยอ ลูกชิ้น แฮม ปลาเค็ม ปลาร้า และโซเดียมที่มีอยู่ในอาหารไม่เค็ม เช่น ผงชูรส ผงฟูในขนมเบเกอรี่  โซเดียมที่อยู่ในสารกันบูด ซุปก้อน เป็นต้น


พฤติกรรมการบริโภคโซเดียม(เกลือ)มากเกินไป มีผลต่อไตอย่างไร

การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ส่งผลเสียทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังส่งผลเสียต่อไตโดยตรง

เมื่อเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผ่านทางหลอดเลือดโดยมีน้ำเกลือพาไป  ถ้ามีน้ำเกลือมากทำให้แรงดันในหลอดเลือดจะสูง เรียกว่าความดันโลหิตสูง เมื่อความดันโลหิตสูง หลอดเลือดที่รับแรงดันเลือดก็จะเสื่อมเร็ว และไตยังต้องทำงานมากขึ้น เพื่อขับเกลือออกจากร่างกายขับออกทางปัสสาวะ เมื่อทานโซเดียม(เกลือ)มาก ไตทำงานหนักในการขับโซเดียม(เกลือ)ทำให้ไตเสื่อมอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ไตวายเร็วขึ้น


ลดการบริโภคโซเดียม(เกลือ) ทำได้อย่างไร

โซเดียม(เกลือ) มักจะอยู่ในเครื่องปรุงรสเป็นส่วนใหญ่  เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว เกลือ ผงชูรส ซุปชนิดก้อน ผงปรุงรส เป็น   ซึ่งการลดบริโภคโซเดียม(เกลือ) ทำได้ดังนี้ 

-ลดการใส่เครื่องปรุงรสให้น้อยลง 50% เช่น ใส่น้ำปลา 1 ช้อนให้ใส่  ½ ช้อน เป็นต้น

-หลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม เมื่ออยู่บนโต๊ะอาหาร 

            -หลีกเลี่ยงการทานน้ำซุปต่างๆ เช่น ในก๋วยเตี๋ยวน้ำซุปมักมีปริมาณโซเดียมสูง ควรรับประทานน้อย 

             -หลีกเลี่ยงการทานอาหารพวกหมักดอง เช่น  ปลาเค็ม เนื้อเค็ม กะปิ ปลาร้า  เป็นต้น  

            -หลีกเลี่ยงการทานขนมกรุบกรอบ  

            -เวลาไปทานอาหารนอกบ้าน  สั่งอาหารที่ไม่ใส่ผงชูรส หรือให้ทำรสเค็มน้อย   

            นอกจากนี้การลดบริโภคโซเดียม(เกลือ) แนะนำว่าให้ค่อย ๆ ลดเครื่องปรุงรสทีละน้อย  เดือนละ 10%  คือ ลด 30% ใน 3 เดือน ร่างกายจะปรับตัวทานอาหารที่ความเค็มน้อยลงได้ 


ภาษีโซเดียม … มาตรการเพื่อปกป้องไต 

ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมการทานอาหารนอกบ้าน ทานอาหารพร้อมบริโภคและอาหารกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น เพราะสะดวกและเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งอาหารเหล่านี้มีโซเดียมสูง ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ออกมาตรการลดการบริโภคเค็มอย่างหลากหลายและต่อเนื่อง รวมทั้งการขอความร่วมมือให้ธุรกิจอาหารลดปริมาณโซเดียมลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นกรมสรรพสามิตและกระทรวงสาธารณสุข จึงกำหนดให้อาหารกึ่งสำเร็จรูปเป็นกลุ่มที่ต้องควบคุมปริมาณโซเดียม โดยกำหนดมาตรฐานปริมาณโซเดียมสูงสุดในอาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ ฯลฯ    สูตรอาหารใดที่มีปริมาณโซเดียมเกินมาตรฐานจะถูกเก็บภาษี ส่วนสูตรอาหารใดที่มีปริมาณโซเดียมไม่เกินมาตรฐานจะไม่ถูกเก็บภาษี เป็นการชักจูงให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตหันมานิยมอาหารโซเดียมต่ำ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วอีก 2 ปี   ทั้งนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเก็บภาษีที่เพดานเท่าไร  ตอนนี้เป็นช่วงเตรียมพร้อมให้ผู้บริโภค  ผู้ประกอบการมีเวลาคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ลดโซเดียม(เกลือ) ลงมา


มาตรการนี้จะไม่กระทบประชาชน  ถ้าหากอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ ลดโซเดียมลงมา ราคาก็จะไม่แพงขึ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีไม่ได้มุ่งเป้าหมายไปที่การเพิ่มรายได้ของรัฐบาลแต่อย่างใด แต่เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและการสูญเสียชีวิตจากการบริโภคโซเดียมเกินพอดี โดยมีกรณีตัวอย่าง เป็นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณความหวานที่ได้มีการดำเนินการมากว่า 4 ปี ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำเพิ่มขึ้นในร้านสะดวกซื้อจากเดิมร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 30 ทำให้มีผู้ป่วยโรคอ้วนจากเบาหวานกินหวานน้อยลงอย่างชัดเจน ดังนั้น หากภาคอุตสาหกรรมปรับลดโซเดียมในอาหารลงก็จะช่วยให้ประชาชนลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น ช่วยให้ประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคเหล่านี้ด้วย 

เคล็ดลับในการห่างไกลโรคไต

1.ทานอาหารดี ลดอาหารที่มีรสหวานและรสเค็ม

2.ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 6-8 แก้ว  หากดื่มน้ำน้อย จะทำให้เป็นนิ่วในไต และติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

3.ไม่ทานยาที่มีพิษต่อไต หรือทานยาต่อเนื่องโดยไม่จำเป็น ให้ทานยาที่หมอแนะนำเท่านั้น  โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง  ต้องทานยาที่แพทย์แนะนำ  และไม่หยุดยาเอง หรือปรับยาเอง   ต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์   ตรวจน้ำตาล ตรวจเบาหวาน วัดความดันโลหิตเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ  

4.งดสูบบุหรี่ดื่มสุรา  การสูบบุหรี่และการดื่มสุราทำให้ความดันโลหิตสูง  ซึ่งความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุของโรคไต   

5.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  ไม่ให้น้ำหนักเกิน 


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ผู้ป่วยโรคไตที่รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดและล้างไต ต้องดูแลตนเองอย่างไร

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังต้องล้างไตและฟอกไตอย่างต่อเนื่อง  และต้องระวังเป็นพิเศษ   เพราะว่าผู้ป่วยจะมีภูมิต้านทานต่ำ  หากติดเชื้อแล้วอันตรายมาก  เวลาต้องล้างไตหรือฟอกเลือดต้องทำห่างไกลจากผู้อื่น   หรือ social distancing  ล้างมือบ่อย ๆ  ทานอาหารที่สุก สะอาด  รวมทั้งต้องฉีดวัคซีนโควิด  ซึ่งสามารถฉีดได้ทุกตัว  ไม่มีข้อห้าม  รวมทั้งผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตและทานยากดภูมิคุ้มกันก็สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ทุกตัวเช่นเดียวกัน   นอกจากนี้หากมีอาการเจ็บป่วยต้องรีบไปพบแพทย์    หากอยู่ที่บ้านก็ต้องระวังตัวเอง ควรใส่หน้ากากอนามัย   เพราะญาติพี่น้องอาจเป็นพาหะนำเชื้อมาให้ได้   และหลีกเลี่ยงการออกไปในที่ชุมชน เพราะมีโอกาสติดเชื้อสูง


รศ. นพ.สุรศักดิ์  กันตชูเวสศิริ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า  การรักษาไตวายที่ดีที่สุดคือ  การปลูกถ่ายไตหรือการผ่าตัดเปลี่ยนไต การบริจาคอวัยวะนั้นสามารถช่วยชีวิตคนได้ 7-8 คน  โดยประชาชนทั่วไปสามารถบริจาคอวัยวะที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และอาจบอกญาติพี่น้องก่อนว่าเมื่อเสียชีวิตแล้วมีความประสงค์ที่จะบริจาคอวัยวะ ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนช่วยกันบริจาคอวัยวะเพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากรออยู่ 


สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคไต   ในเรื่องของบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโรคไต ทั้งอายุรแพทย์โรคไต ศัลยแพทย์หลอดเลือด  ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายไต  พยาบาลไตเทียม ยังคงไม่เพียงพอ  อยากให้ผู้มีอำนาจหรือผู้กำหนดนโยบายส่งบุคลากรฝึกอบรมเฉพาะทางเพิ่มขึ้น   เพื่อเพิ่มบุคลากรดังกล่าวให้มีคุณภาพและจำนวนมากขึ้น เนื่องจากบุคลากรจำนวนเท่าเดิม แต่มีผู้ป่วยมากขึ้น  จึงต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้คุณภาพการทำงานอาจลดลง นอกเหนือจากนั้นประชาชนต้องดูแลสุขภาพตนเองไม่ให้ป่วย  หากป่วยแล้วต้องรีบรักษา 

                                 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad