ดึงฐานข้อมูลบิ๊กเดต้าผสานเทคโนโลยีการแพทย์หลากหลายยกระดับระบบแพทย์ทางไกล
(Telemedicine) พร้อมให้บริการปี 67
มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ดำเนินการก่อสร้าง
โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร
ตั้งเป้าให้เป็นโรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์แห่งแรกของไทย โดยการใช้เทคโนโลยีแพทย์ทางไกล
(
Telemedicine) ผสานเทคโนโลยีล้ำสมัยทางการแพทย์หลากหลายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด
รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลการดูแลสุขภาพ (Healthcare Big data)
เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการรักษาในอนาคต โดยโรงพยาบาลฯ มีจุดเด่นด้านการพัฒนาวิจัย
และผลิตเครื่องมือแพทย์ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ที่ผ่านมา โรงพยาบาลฯ
ได้นำร่องผลิตเครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow ช่วยผู้ป่วยในช่วงภาวะวิกฤตแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
ปีที่ผ่านมา ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร
เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีหน่วยให้บริการทางการแพทย์เพียง 13,125 แห่ง แต่มีประชากรไทยทั้งหมด
66,161,033 คน ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง
โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย
เนื่องจากขาดงบประมาณในการจัดหา นำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาสูงจากต่างประเทศ
ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยต้องเสียงบประมาณการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ต่ำกว่า
10,000 ล้านบาท
มูลนิธิโรงพยาบาลฯ ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อยกระดับการให้บริการทางแพทย์ของไทยให้ทันสมัย สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเท่าเทียม
มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส โดยผสานองค์ความรู้หลากหลายสาขาวิชา
ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์เองภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างชาติ
และสร้างโอกาสให้คนไทยได้รับการรักษาด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย
มีประสิทธิภาพ ในราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่พัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์
และนักวิจัยไทยอย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง
จึงเป็นที่มาของการก่อสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยและภูมิภาคอาเซียน
โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร
สร้างบนพื้นที่รวมกว่า 14,000 ตารางเมตร จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 60 เตียง ให้บริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีล้ำสมัยทางการแพทย์หลากหลายช่วยเพิ่มศักยกาพและขยายขอบเขตการรักษาให้สามารถรองรับการดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น
เทคโนโลยีแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ระบบฐานข้อมูลดูแลสุขภาพ (Healthcare
Big Data) ช่วยติดตามผลการรักษา และนำข้อมูลไปใช้เป็นองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเครื่องมือแพทย์
และวิธีการรักษาผู้ป่วยในโรคเดียวกันให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไปในอนาคต
การให้บริการสอบถามปัญหาสุขภาพทั่วไป การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น
ตลอดจนให้แนวทางการรักษาโรคผ่านช่องทางการสื่อสารอัตโนมัติแชตบอต (Chatbot) ที่พัฒนาด้วยระบบเอไอ
(AI) ช่วยลดการเสียเวลาเดินทางพบแพทย์ของคนไข้ ดังนั้น เมื่อโรงพยาบาลฯ
ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะไม่ได้สร้างประโยชน์กับผู้ที่มาใช้บริการเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่โรงพยาบาลฯ
จะทำหน้าที่ศึกษาวิจัย เผยแพร่นวัตกรรมทางการแพทย์ และเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศไปสู่โรงพยาบาลทั่วประเทศ
เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไทยทุกคน
มูลนิธิโรงพยาบาลฯ
ประสบความสำเร็จในการผลิต
“เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL
High Flow” เครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูง
ที่มาพร้อมระบบมอนิเตอร์ทางไกล ราคาถูกกว่านำเข้ากว่า 3-4 เท่า
มีประสิทธิภาพช่วยพยุงการหายใจของผู้ป่วยปอดอักเสบ และภาวการณ์หายใจบกพร่อง
ช่วยให้แพทย์ติดตามภาวะการหายใจล้มเหลวได้ ซึ่ง มูลนิธิฯ ได้ผลิตและแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศ
เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนในสภาวะวิกฤตโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ในปี
2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการศึกษาวิจัยพัฒนาเครื่องมือแพทย์
และจะเป็นต้นแบบการพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลฯ ต่อไปในอนาคต ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคเงินสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร กรุงไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร
ในพระสังฆราชูปถัมภ์ หมายเลขบัญชี
693-0-32393-4
หากประสงค์ขอรับใบเสร็จรับเงินโปรดแจ้งและส่งหลักฐานการโอนเงินมาที่ไลน์ไอดี
@kmitlhospital หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 092-454-8160 ,
092-548-2640 และ 02-329-8000 ต่อ 3146 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร พร้อมความเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆ
ของโรงพยาบาลได้ที่เว็บไซต์ www.kmchf-pp.org และเฟสบุค https://www.facebook.com/KMCHospitalbyKMITL
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น