มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง จับมือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโลหิตวิทยาฯ และชมรมผู้ป่วยโรคเอ็มพีเอ็น จัดเสวนาออนไลน์มอบความรู้เนื่องในเดือนมะเร็งโรคเลือด หวังคนไทยเข้าใจ รู้ทันภาวะไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดผิดปกติเรื้อรัง
กันยายน 2566 -มูลนิธิเครือข่ายมะเร็งเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโลหิตวิทยา MPN & MDS Working group และชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดเอ็มพีเอ็นแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนาออนไลน์สำหรับผู้ป่วย ผู้ดูแลและประชาชน เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา เนื่องในเดือนรณรงค์การตระหนักรู้มะเร็งโรคเลือด ในหัวข้อ “รู้ทันภาวะไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดผิดปกติเรื้อรัง มะเร็งโรคเลือดกลุ่ม MPNs และ MDS”
ผศ. นพ. นพดล ศิริธนารัตนกุล ประธานคณะแพทย์ผู้เชื่ยวชาญโลหิตวิทยา MPN & MDS Working group กล่าวถึง ปัญหาโรคมะเร็งเม็ดเลือดปัจจุบันในประเทศไทยพบมากขึ้นในผู้ป่วยสุงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป นำมาสู่การจัดงานเสวนาเพื่อให้ความรู้เรื่องโรคและแนวทางการรักษา รวมทั้งรับฟังการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วยในการดูแลตนเอง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจสำหรับผู้ป่วย ผู้ดูแลและประชาชนที่สนใจ
น.ส.ศิรินทิพย์ ขัติยกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง เล็งเห็นความสำคัญของการให้ความรู้มะเร็งโรคเลือดเพื่อรู้ทันโรค รู้วิธีการรักษา และรู้วิธีรับมือกับโรคนี้ในการดูแลสุขภาพและใช้ชีวิตประจำวันได้ สามารถรับฟังย้อนหลังได้ทางเฟสบุ๊คเพจมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และสามาถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซด์ของมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง https://thaicancersociety.com/
รศ. พญ. นงลักษณ์ คณิตทรัพย์ กล่าวถึง โรคมะเร็งเม็ดเลือด เกิดจากภาวะไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดผิดปกติเรื้อรัง ซึ่งโรคมะเร็งเลือดกลุ่มเอ็มพีเอ็น (Myelofibrosis Neoplasm, MPNs) ส่วนใหญ่มีเซลเม็ดเลือดเพิ่มขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ชนิดที่พบบ่อย คือ โรคเลือดข้น โรคเกล็ดลือดสูง โรคพังผืดในไขกระดูก ผู้ป่วยจึงมีอาการที่พบบ่อยคือ อ่อนเพลีย เหนื่อย เพลียง่าย วิงเวียนศรีษะ ปวดศรีษะ บางรายมีอาการทางผิวหนังปวดแสบร้อนปลายมือปลายเท้า มีรอยแดง คัน หน้าแดง เกิดในผู้ป่วยภาวะเลือดข้นและโรคเกล็ดเลือดสูง บางรายพบอาการแน่นท้อง คลำก้อนได้ใต้ชายโครงเนื่องจากม้ามโต มีไข้ เนื่องจากเกิดพังผืดในไขกระดูกจึงสร้างเม็ดเลือดผิดปกติ บางรายมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ เกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือด ถ้ารุนแรงมากกล้ามเนื้อหัวใจอาจขาดเลือดได้ แต่โรคไขกระดูกเสื่อมเอ็มดีเอส (Myelodysplastic Syndromes, MDS) ส่วนใหญ่มีภาวะเซลเม็ดเลือดลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการซีด โลหิตจาง เลือดออกง่าย สาเหตุของการเกิดโรคไม่ทราบชัดเจน อาจสัมพันธ์กับการได้รับสารเคมี หรือสารกัมมันตภาพรังสี โรคกลุ่มนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่ม MPNs มีการกลายพันธุ์ของยีนแจ็คทู (JAK2 mutation)
การตรวจวินิฉัยโรคทั้ง MPN และ MDS ในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกายดูว่ามีอาการม้ามโตหรือไม่ ส่งตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (Complete Blood Count, CBC) เพื่อดูความผิดปกติในส่วนประกอบของเม็ดเลือด โดยนับจำนวนเม็ดเลือดแดง ดูความเข้มข้นของเลือด จำนวนเม็ดเลือดขาว และจำนวนเกล็ดเลือด และตรวจวินิฉัยเพิ่มโดยเจาะไขกระดูก การรักษาโรคกลุ่ม MPNs โดยให้ยาต้านเกล็ดเลือดกลุ่มแอสไพริน เจาะเลือดออก (ในกรณีเลือดข้น) การให้ยาเคมีบำบัดหรือยาออกฤทธิ์ตรงเป้ากลุ่ม JAK2 inhibitor การให้ยาลดปริมาณเซลเม็ดเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์จะดูแลติดตามอาการโดยการตรวจเลือดเป็นระยะ เพื่อประเมินอาการภาวะแทรกซ้อนและการเปลี่ยนแปลง และให้การรักษาที่เหมาะสมตามอาการ อาการของโรคเลือดข้นและโรคเกล็ดเลือดสูงถ้ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอาจเปลี่ยนแปลงเป็นโรคพังผืดในไขกระดูกหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันได้ จึงควรตรวจติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
รศ. พญ. จันทนา ผลประเสริฐ อธิบายถึง โรคไขกระดูกเสื่อมเอ็มดีเอส (Myelodysplastic Syndromes, MDS) ว่าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลต้นกำเนิดในไขกระดูก ทำให้สร้างเม็ดเลือดผิดปกติ มีอายุสั้นกว่าปกติ และเม็ดเลือดมีรูปร่างผิดปกติ เม็ดเลือดแดงน้อยจะมีอาการซีด อ่อนเพลีย หากมีเกล็ดเลือดต่ำเลือดออกง่าย มีจุดเลือดออกตามตัวและแขนขา อาจมีเม็ดเลือดขาวต่ำทำให้ติดเชื้อง่าย หากมีภาวะรุนแรงอาจดำเนินเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน พบว่าสาเหตุการเกิดโรคเอ็มดีเอส เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการได้รับสารเคมีก่อมะเร็งกลุ่มเบนซีน โลหะหนักจากโรงงานอุตสาหกรรม การสุบบุหรี่ การได้รับยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงในการรักษามะเร็งโรคอื่น การสัมผัสสารกัมมันภาพรังสีทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนและเกิดโรคเอ็มดีเอสได้ ในการวินิจฉัยโรค แพทย์จะซักประวัติและดูผลตรวจเลือด โรคประจำตัวและการใช้ยาบางอย่างที่มีผลทำให้เม็ดเลือดต่ำได้โดยที่ไม่ได้เป็นโรคเอ็มดีเอส ยาสมุนไพรบางชนิดที่ใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานก็อาจทำให้เกล็ดเลือดต่ำหรือเม็ดเลือดขาวต่ำได้ การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) การตรวจค่าการทำงานของตับและไต การตรวจเจาะไขกระดูก การตรวจความผิดปกติของโครโมโซม เช่น การขาดหายไปของโครโมโซมคู่ที่ 5 หรือคู่ที่ 7 การตรวจการกลายพันธุ์ของยีนพบประมาณ 90%ในโรคนี้ ต้องประเมินการวินิจฉัยที่ชัดเจนและแบ่งกลุ่มความรุนแรงของโรค เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
ผู้ป่วยเอ็มดีเอสส่วนใหญ่มักทมีอาการซีด การรักษาทำได้โดยให้ยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดแดง ให้ผลดีในกรณีที่ฮอร์โมน erythropoietin น้อยกว่า 500 U/L การรักษาอื่นๆ เช่น รักษาตามความผิดปกติทางพันธุกรรม และการให้เลือด ในกลุ่มผู้ป่วยที่เกล็ดเลือดต่ำรักษาโดยให้ยากระตุ้นเกล็ดเลือดในกรณีที่มีเลือดออกและเกล็ดเลือดต่ำมากเท่านั้น ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ รักษาโดยให้ยากระตุ้นเม็ดเลือดขาวในกรณีที่มีการติดเชื้อบ่อยๆ เท่านั้น ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่มีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ควรพิจารณาให้การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกในกรณีผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 65 ปีและแข็งแรงดี นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยให้ยาเคมีบำบัด การให้เลือด และการรักษาในโครงการวิจัยยาใหม่
พญ. สุนิสา ก้องเกียรติกมล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เนื่องจากโรคไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดผิดปกติเรื้อรังผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตอยู่ได้กว่าสิบปี ดังนั้นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งโรคกลุ่มเอ็มพีเอ็นและโรคเอ็มดีเอสจึงมีความสำคัญในการดูแลรักษาโรคด้วย โดยผู้ป่วยอาจจะช่วยติดตามสังเกตอาการและผลการรักษาต่อเนื่องด้วยตนเอง โดยในโรคเอ็มพีเอ็นประกอบด้วย โรคเลือดข้น โรคเกล็ดเลือดสูง และโรคพังผืดในไขกระดูก พบว่า 10 อาการที่พบบ่อยที่สุดในโรคกลุ่มเอ็มพีเอ็น ได้แก่ น้ำหนักลด เหงื่อออกกลางคืน ปวดกระดูกทั่วตัว เป็นไข้ต่ำเรื้อรังจากการอักเสบ อาการคัน เฉื่ยชา อ่อนเพลีย และขาดสมาธิการทำงาน อิ่มเร็วและแน่นท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคพังผืดในไขกระดูก แม้จะพบผู้ป่วยกลุ่มนี้น้อยที่สุดแต่มี 10 อาการดังกล่าวบ่อยที่สุด มีความรุนแรงมากกว่าชนิดอื่น ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการด้วยแบบประเมิน MPN10 สามารถดาวน์โหลดได้ทางเว็บไซด์ของมูลนิเครือข่ายมะเร็ง ให้เทียบอาการก่อนวินิจฉัยกับหลังวินิจฉัยว่าอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากน้อยเพียงใด แนะนำให้ประเมินทุก 6 เดือน เพื่อติดตามอาการหลังการรักษา ถ้ามีอาการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนควรแจ้งแพทย์ที่ดูแลเพื่อตรวจดูผลเลือดเพิ่มเติม
ส่วนโรคเอ็มดีเอส ยังไม่มีแบบประเมินเฉพาะ แต่สังเกตอาการก่อนและหลังการรักษาว่าผลดีขึ้นหรือไม่ จะทำให้แพทย์ผู้ดูแล ติดตามผลของการรักษาได้ดีขึ้น โดยสังเกตอาการ มีโลหิตจาง มักมีอาการเหนื่อยกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ในการทำกิจกรรมต่างๆดีขึ้นหรือแย่ลง ส่วนอาการเม็ดเลือดขาวต่ำ มีไข้อาจติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งอาจจะเกิดจากอาการแทรกซ้อนจากการรักษา หรือตัวโรคที่ดำเนินไปข้างหน้าก้ได้ ควรมีปรอทวัดไข้และจดบันทึกด้วยตนเองที่บ้าน ส่วนอาการเกล็ดเลือดต่ำให้สังเกตการมีจุดเลือดออกที่ผิวหนังสีแดง หากพบอาการเหล่านี้ต้องแจ้งแพทย์ผู้ดูแล
พญ. สุนิสา กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยสรุปมะเร็งโรคเลือดสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้หากรีบรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโลหิตวิทยา และดูแลสังเกตอาการของตนเองเสมอหลังการ รักษาที่เหมาะสม สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้
สามารถรับชมเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/thaicancersociety/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น