โรคพิธิโอซิสในมนุษย์ (human pythiosis) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อพิเธียม อินซิดิโอซุ่ม (Pythium insidiosum) โดยที่เชื้อพิเธียมนี้ถึงแม้จะมีลักษณะคล้ายรา แต่เมื่อวิเคราะห์ในระดับสารพันธุกรรมแล้ว เชื้อพิเธียมมีความใกล้เคียงกับสิ่งมีชีวิตจำพวกสาหร่ายและไดอะตอมมากกว่า ซึ่งพบรายงานผู้ป่วยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการรายงานโรคพิธิโอซิสในมนุษย์ และไทยมีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อพิธิโอซิสมากเป็นลำดับแรกของโลกร่วมกับประเทศอินเดีย โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 94.3% ของรายงานผู้ป่วยทั้งหมดทั่วโลกนับจนถึงปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้หนึ่งในกลุ่มประชากรที่สามารถพบโรคนี้ได้มากคือ เกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ต้องเดินลุยน้ำหรืออยู่ในที่ที่มีน้ำขัง ซึ่งมักเกิดแผลจากการทำกิจกรรมทางเกษตร ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าว และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักพบในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โรคพิธิโอซิสในมนุษย์แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.การติดเชื้อในหลอดเลือด (vascular pythiosis) 2.การติดเชื้อในลูกตา (ocular pythiosis) 3.การติดเชื้อที่ผิวหนัง (cutaneous pythiosis) และ 4.การติดเชื้อแบบแพร่กระจาย (disseminated infection) และอาการทางคลินิกที่พบบ่อยมากที่สุดคือ การติดเชื้อในหลอดเลือด รองลงมาคือการติดเชื้อในลูกตา โดยอาการและการแสดงของโรคพิธิโอซิสขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อ โดยงานวิจัยได้ศึกษาการติดเชื้อของโรคพิธิโอซิสในหลอดเลือดเป็นหลัก เพื่อศึกษาอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยหลังจากได้รับการรักษาด้วยแผนการรักษาแบบใหม่โดยมียาต้านปฏิชีวนะร่วมกับยาต้านเชื้อราและการผ่าตัด และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแผนการรักษาโรคพิธิโอซิสในหลอดเลือด เพื่อให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ที่พบในปัจจุบัน
ทั้งนี้การรักษาโรคพิธิโอซิสในหลอดเลือด เดิมใช้การรักษาโดยการผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาไอทราโคนาโซล (itraconazole) ยาเทอบินาฟีน (terbinafine) และการให้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย (immunotherapy) ซึ่งการรักษาแบบเดิมพบว่า ผู้ป่วยที่ยังมีส่วนที่ติดเชื้อหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัดหรือผู้ป่วยที่มีค่า beta-d-glucan สูง หลังการผ่าตัดจะเสียชีวิตทั้งหมดภายในเวลา 3-6 เดือน ทั้งนี้ข้อมูลจากการศึกษาผู้ป่วย 40 ราย ด้วยแนวทางการรักษาโรคพิธิโอซิสแบบผสมผสาน โดยมีการผ่าตัด การให้ยาต้านเชื้อราและยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย พบว่าการรักษาให้ผลที่มีประสิทธิภาพ โดยมีผู้ป่วย 14 รายที่ยังคงมีส่วนที่ติดเชื้อหลงเหลืออยู่ ซึ่งบางรายสามารถผ่าตัดได้ แต่บางรายก็ไม่สามารถผ่าตัดได้ และในผู้ป่วย 14 รายดังกล่าวพบว่า ยังมีส่วนที่ติดเชื้อหลงเหลืออยู่ 13 รายที่ยังมีชีวิตอยู่และอาการอยู่ในระดับดี แต่ยังต้องกินยาตลอดชีวิตเพื่อควบคุมส่วนที่ติดเชื้อในหลอดเลือดใหญ่ ซึ่งผลการศึกษานี้ทำให้เกิดประเภทของผู้ป่วยแบบใหม่ นั่นคือผู้ป่วยที่มีภาวะพิธิโอซิสในหลอดเลือดเรื้อรัง ส่วนผู้ป่วยอีก 1 ราย รักษาหายและไม่เหลือส่วนที่ติดเชื้ออยู่ แต่ภายหลังการผ่าตัดกลับมาเป็นโรคพิธิโอซิสในหลอดเลือดใหม่อีก 2 ปีต่อมา ซึ่งการพบผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้ ยังไม่เคยพบการศึกษาและการรายงานมาก่อน (ข้อมูลนี้ได้นำเสนอใน IDWeek 2023, Boston, USA ในเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา)
ทั้งนี้ข้อมูลจากการวิจัยชี้ให้เห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าใจการดำเนินของโรค จากเดิมที่มีความเข้าใจว่าโรคพิธิโอซิสในหลอดเลือด มีผลการรักษาเพียง 2 กรณีคือ รักษาหายและเสียชีวิต แต่หลังจากที่มีการพัฒนาการรักษาและมีการติดตามผู้ป่วย จึงทำให้พบว่า มีผู้ป่วยที่จะเป็นกลุ่มติดเชื้อแบบเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่กลับมาเป็นโรคซ้ำได้อีก ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะติดเชื้อเรื้อรัง แนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ว่า ทีมวิจัยมีแผนที่จะจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาโรคพิธิโอซิส โดยปรับจากการใช้ยาต้านเชื้อราร่วมกับการผ่าตัด เป็นการใช้การผ่าตัดร่วมกับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยาฆ่าเชื้อรา นอกจากนี้ทีมวิจัยมีแผนที่จะทำการติดตามผู้ป่วยเก่าและผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่อย่างต่อเนื่องโดยการสร้าง Natural History of Vascular Pythiosis Cohort เพื่อประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย การเข้าใจในการดำเนินของโรคและภาวะการติดเชื้อพิธิโอซิสในหลอดเลือดเรื้อรัง ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน เพื่อโอกาสในการพัฒนาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเข้าถึงการรักษาแบบใหม่ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะทำความร่วมมือในการรักษาผู้ป่วยโรคพิธิโอซิสและถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับโรคพิธิโอซิสในหลอดเลือด ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาระบบสุขภาพในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้งานวิจัยการรักษาโรคพิธิโอซิสแบบผสมผสานโดยมีการผ่าตัด การให้ยาต้านเชื้อราและยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว สวรส.สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการวิจัย โดยงานวิจัยนี้ได้จัดแสดงในรูปเเบบนิทรรศการ ซึ่ง สวรส. ร่วมกับทีมวิจัย อ.นพ.รองพงศ์ โพล้งละ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมนำเสนอผลงานในงานประชุมวิชาการและจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร “เปลี่ยนวิถีเกษตรไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” AgriTech and Innovation (Moving Forward : From Local to Global) จัดโดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เมื่อวันที่ 20 - 21 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น