เคล็ดลับเพื่อการนอนหลับที่ดี โดยหมอแอมป์ - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เคล็ดลับเพื่อการนอนหลับที่ดี โดยหมอแอมป์

มีใครบ้างที่เคยรู้สึกสมองล้า อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย หลังจากอดนอนมาทั้งคืน ทุกคนคงไม่แปลกใจเมื่อบอกว่าการนอนหลับส่งผลต่อการทำงานของสมองอย่างมาก แต่การอดนอนไม่เพียงส่งผลเสียต่อสมองเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อทุกระบบของร่างกายอีกด้วย

นายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ หรือ คุณหมอแอมป์ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และในฐานะที่คุณหมอแอมป์เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ซึ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการมีสุขภาพดี  คุณหมอแอมป์จึงอยากชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนอนหลับ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 เสาหลักของการมีสุขภาพดี ชีวิตยืนยาว เมื่อนอนไม่พอจะเกิดผลเสียอะไรกับร่างกายเราบ้าง

1. การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ มีความสำคัญต่อ Brain Plasticity หรือ ความสามารถของสมองในการปรับตัวกับข้อมูลที่เข้ามา ถ้าเรานอนน้อยเกินไป เราจะไม่สามารถประมวลผลสิ่งที่เราได้เรียนรู้ระหว่างวัน และมีปัญหากับในการจดจำ


2. การนอนหลับยังมีความสำคัญต่อการกำจัดของเสียออกจากเซลล์สมอง กระบวนการชำระล้างสมอง (Glymphatic system) ซึ่งจะทำได้ดีที่สุดในช่วงนอนหลับลึก (Deep Non-REM Sleep) เพื่อกำจัดเบตาอไมลอยด์ (ß-amyloid) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ หรือว่าโรคความจำเสื่อม


3. การนอนหลับยังมีบทบาทในการเผาผลาญของร่างกาย การอดนอนทำให้เรามีแนวโน้มกินอาหารเพิ่มขึ้น และการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลินต่อน้ำตาลลดลง ตัวชี้วัดเริ่มแรกของการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2


4. การนอนหลับมีความสำคัญต่อส่วนอื่นๆ ของร่างกายเช่นเดียวกัน เมื่อคนเรานอนหลับไม่เพียงพอ ความเสี่ยงต่อสุขภาพก็เพิ่มมากขึ้น เช่น อาการซึมเศร้า อาการปวดหัวไมเกรน ความดันโลหิตสูง เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันทำงานได้น้อยลง เพิ่มโอกาสในการเจ็บป่วยและติดเชื้อ รวมถึง การเกิดอุบัติเหตุ ผิวแก่ก่อนไว หรือแม้แต่แรงขับทางเพศลดลง (Impaired Sexual Health)


เห็นได้ว่าการอดนอนมีข้อเสียมากมาย ดังนั้นจะทำอย่างไรให้นอนหลับได้ดีขึ้น คุณหมอแอมป์จึงนำเคล็ดลับเพื่อการนอนหลับที่ดีมาบอกเล่าให้ทุกคนฟัง ดังนี้


1. นอนหลับให้เพียงพอ เวลาเดิมเป็นประจำ 

เพื่อให้การนอนหลับสอดคล้องกับ นาฬิกาชีวิต (Biological clock) หรือ วงจรของระบบการทำงานในร่างกายมนุษย์ เราจึงควรนอนหลับให้เพียงพอ ตื่นและเข้านอนเวลาเดิมเป็นประจำทุกวัน 


เมื่อถึงเวลานอนร่างกายจะผลิตฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ ‘ฮอร์โมนเมลาโทนิน’ ฮอร์โมนแห่งการนอนหลับ เพื่อทำให้รู้สึกง่วงนอน และ ‘โกรทฮอร์โมน’ ซึ่งเป็นฮอร์โมนชะลอความแก่ ออกมาเพื่อฟื้นฟูร่างกาย การหลั่งฮอร์โมนทั้งหมดนี้สอดคล้องกับ จังหวะเซอร์คาเดียน (Circadian Rhythms) ซึ่งเป็นวงจรในแต่ละวันของร่างกายเรา


การเข้านอนในช่วง 4 ทุ่ม หรือ ช้าที่สุด 5 ทุ่ม ทำให้เข้าถึงช่วงหลับลึกได้ทัน ตอนประมาณ 5 ทุ่ม ถึง ตี 1 ครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ โกรทฮอร์โมนหลั่งออกมาสูงสุด โดยวัยผู้ใหญ่ควรนอนให้ได้ 7 – 9 ชั่วโมงทุกคืน เพื่อให้การนอนในหนึ่งคืนควรมีจำนวนรอบการนอนประมาณ 4 – 6 รอบ และมีช่วงหลับลึกประมาณ 20% และนอนให้ได้ครบรอบของการนอนหลับ เพื่อให้ตื่นมาสดชื่น


 2. หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด 

เมื่อแสงสว่างของวันลดลง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินออกมา ทำให้เรารู้สึกง่วงและพร้อมเข้าสู่การนอนหลับ  แต่ แสงสีฟ้า (Blue Light) จากจอมือถือ จอคอมพิวเตอร์ จอทีวี กระทบกับคลื่นสมองและยังยั้งการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนิน ทำให้ไม่รู้สึกง่วงนอน แสงสีฟ้ายังส่งผลให้ระยะเวลาของช่วงหลับลึก (Deep Sleep)  และช่วงนอนหลับฝัน (REM; Rapid Eye Movement) ลดลง ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญต่อการเรียนรู้และการทำงานของสมอง 


ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด โดยเฉพาะ 1 – 2 ชั่วโมงก่อนเวลาเข้านอน เพราะแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์เหล่านี้ ส่งผลให้การนอนหลับยากขึ้นและคุณภาพการนอนลดลง


3. ปรับเรื่องการรับประทานอาหาร 


แนะนำหลีกเลี่ยงอาหารมื้อใหญ่ก่อนนอน อาหารที่มีน้ำตาล แป้ง และโซเดียมสูง และแนะนำให้รับประทานมื้อเย็นให้เสร็จก่อน 19.00 น. หรือประมาณ 2 ถึง 4 ชั่วโมง ก่อนเข้านอน


หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะคาเฟอีน มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยให้ระบบประสาทตื่นตัว ควรดื่มก่อน 14.00 น. เพราะตับต้องใช้เวลาขับคาเฟอีนออกจากร่างกายประมาณ 8 ชั่วโมง หากดื่มหลัง 14.00 น. ไปแล้ว ร่างกายจะขับคาเฟอีนไม่ทัน และส่งผลให้การนอนแย่ลง 


ปัจจุบันมีการตรวจรหัสพันธุกรรม (CYP1A2) พบว่าตับของมนุษย์มีความสามารถขับคาเฟอีนออกจากร่างกายได้ 2 แบบ คือ เร็วและช้า ถ้าเราเป็นมนุษย์ที่ตับขจัดคาเฟอีนได้เร็ว เราก็สามารถรับประทานกาแฟได้จนถึงช่วงเย็นๆ ถึงค่ำ ถ้าร่างกายเราเป็นแบบขจัดคาเฟอีนได้ช้า ใน 1 วัน ไม่ควรรับประทานเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เกินวันละ 150 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากาแฟดำ 1 แก้ว และไม่ควรรับประทานหลัง 10 โมงไปแล้ว ดังนั้นเราสามารถรู้จักร่างกายตัวเองได้โดยการตรวจพันธุกรรม (Genetic Test)


4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

ผลงานวิจัยระบุว่า การสูบบุหรี่ 1 มวนทำให้เราหลับลึกน้อยลงไป 1-2 นาที เมื่อเทียบกับผู้ไม่สูบบุหรี่ สาเหตุมาจากนิโคตินมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง จึงขัดขวางร่างกายไม่ให้เข้าสู่ช่วงหลับลึก และทำให้นอนหลับยาก ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์นั้น แม้จะสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย แต่การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน รบกวนวงจรการนอนหลับ มีผลต่อคลื่นสมอง สมดุลระหว่างช่วงนอนหลับลึก (Deep Sleep)  และช่วงนอนหลับฝัน (REM) ทำให้คุณภาพการนอนหลับเสียไป และการนอนถูกรบกวนมากขึ้น


5. ทำสมาธิ ลดความเครียด ปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ 

มีวิธีมากมายในการผ่อนคลาย ลดความเครียดและวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็น การเดินจงกรม ถักไหมพรม ถักโครเชต์ ร้อยลูกปัด ทำสายคล้องแมส ส่องพระ บางคนระบายสี บางคนต่อจิ๊กซอว์ การทำกิจกรรมเหล่านี้อย่างน้อย 30 นาทีก่อนเข้านอน ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ลมหายใจช้าลงและลึกขึ้น ซึ่งมีการวิจัยพบว่าการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเหล่านี้ช่วยให้เราหลับได้ง่ายขึ้น

การนั่งสมาธิเป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่ทำให้คลื่นสมองทำงานช้าลง จนอยู่ในช่วงคลื่นแอลฟ่า (Alpha wave) ที่ความถี่ 8 – 12 รอบต่อวินาที และเมื่อระดับในการทำสมาธิสูงขึ้น คลื่นสมองจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบคลื่นเทต้า (Theta wave) ที่ความถี่ 4 – 7 รอบต่อวินาที และคลื่นเดลต้า (Delta wave) ซึ่งมีความถี่น้อยมากที่ 0.5 – 3 รอบต่อวินาที ซึ่งเป็นความถี่เดียวกับคลื่นสมองขณะที่กำลังนอนหลับลึก ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับให้ดียิ่งขึ้น 


6. ออกกำลังกายในช่วงเช้าหรือบ่าย 

รูปแบบการออกกำลังกายที่ส่งผลดีต่อการนอนหลับนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic exercise) แบบแรงต้าน (Resistance Training) หรือการเล่นโยคะ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำส่งผลให้คุณภาพการนอนดีขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงอาการวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของปัญหานอนไม่หลับ (Insomnia) 

การออกกำลังกายความหนักระดับปานกลางเพียง 30 นาทีต่อวัน ก็เพียงพอในการบรรเทาความวิตกกังวล และช่วยให้นอนหลับดีขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะอาจทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว และนอนหลับได้ยากขึ้น


7. ปรับสภาพแวดล้อมในห้องนอน 

ใช้ห้องนอนสำหรับการนอนเท่านั้น ปิดแสงไฟให้มืดสนิท เพราะแสงสีฟ้าจากหลอดไฟแอลอีดีหรือหลอดฟลูออเรสเซนต์ รบกวนการสร้างฮอร์โมนเมลาโทนิน แต่หากหลีกเลี่ยงแสงรบกวนไม่ได้ แนะนำใช้ผ้าปิดตาเพื่อลดความสว่างของแสง ในทางกลับกัน แสงสีแดง สีส้ม หรือสีเหลือง ไม่ส่งผลกระทบต่อจังหวะเซอร์คาเดียน ดังนั้น ลดความสว่างของไฟลงด้วยการใช้สีในหมวดนี้เพื่อเตรียมตัวเข้านอน และพยายามหลีกเลี่ยงเสียงรบกวน หรือใช้โฟมอุดหู ปรับอุณหภูมิภายในห้องให้เหมาะสม ที่ประมาณ 23-25 องศาเซลเซียส จะช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น

8. รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม 


ผู้ที่มีภาวะอ้วนมีแนวโน้มมีปัญหาการนอนหลับมากกว่าผู้ที่ไม่อ้วน รวมถึงมีอาการง่วงนอนและรู้สึกเหนื่อยล้าระหว่างวันมากกว่า ปัญหาสุขภาพหลายอย่างที่พบในผู้มีน้ำหนักตัวเกินมักกระทบกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) ซึ่งเกิดจากการอุดกั้นของช่องทางเดินหายใจ ทำให้นอนหลับไม่ดี ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น, ภาวะกรดไหลย้อน (GERD; Gastroesophageal Reflux Disease) ที่สร้างความรู้สึกแสบร้อนกลางอก และอาการที่มักแย่ขึ้นเมื่อล้มตัวลงนอน รวมถึงโรคอื่นๆ เช่นภาวะซึมเศร้า โรคหอบหืด (Asthma) โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ที่จะรบกวนการนอนหลับ

ดังนั้น การรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ แต่ยังทำให้สุขภาพโดยรวมของเราดีขึ้นอีกด้วย

9. นอนกลางวัน (Power nap) 

แต่คงไม่ใช่ทุกคืนที่จะนอนหลับได้อย่างเพียงพอ หากรู้สึกง่วงระหว่างวัน การนอนกลางวัน หรือ Power nap เหมือนการเติมแบตเตอรี่สำรอง เพื่อบรรเทาความเหนื่อยล้า และช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าอีกครั้ง และยังเป็นการดึงความจำที่รับเข้ามาในช่วงเช้าเข้าไปอยู่ในสมอง เพราะผ่านการนอนสเตจ 1 และ 2 เช่นเดียวกับการนอนตอนกลางคืน คุณหมอแอมป์แนะนำเทคนิคคือ งีบหลับประมาณ 25 – 30 นาที แต่อย่านอนกลางวันหลังสี่โมงเย็น เพราะอาจทำให้กลางคืนนอนไม่หลับ

10. อาหารเสริม 

หากใครได้ลองหลายวิธีแล้วแต่ยังนอนหลับได้ไม่ดี การใช้อาหารเสริม เช่น เมลาโทนิน, 5-HTP, GABA หรือ สมุนไพรอย่างน้ำมันกัญชง สารสกัดแอล-ธีอะนีน (L-Theanine) จากชาเขียว รากวาเลเรียน ก็ช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ แต่การใช้ยาหรือสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือเภสัชกรก่อนการใช้ทุกครั้ง 

การนอนหลับมีความสำคัญกับมนุษย์อย่างมาก เพราะเป็นเหมือนรางวัลที่ร่างกายต้องการเพื่อฟื้นฟูตัวเอง คุณหมอแอมป์จึงอยากให้ทุกคนมาติดอาวุธพิเศษที่ช่วยให้เรานอนหลับได้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีอื่นๆ อันได้แก่ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับเต็มอิ่ม และมีสุขภาพจิตที่ดี


แหล่งอ้างอิง

1. ตนุพล วิรุฬหการุญ. นอนถูกวิธี สุขภาพดีตลอดชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง; 2563

2. Cutolo M, Seriolo B, Craviotto C, Pizzorni C, Sulli A. Circadian rhythms in RA. Ann Rheum Dis. 2003;62(7):593-6.

3. Wilkinson M, Imran SA. Regulation of Growth Hormone Secretion. In: Clinical Neuroendocrinology: An Introduction. Cambridge: Cambridge University Press; 2019. p. 134–53.

4. Beccuti G, Pannain S. Sleep and obesity. Current opinion in clinical nutrition and metabolic care. 2011;14(4):402.

5. Spiegel K, Leproult R, Van Cauter E. Impact of sleep debt on metabolic and endocrine function. The lancet. 1999;354(9188):1435-9.

6. Iliff JJ, Wang M, Liao Y, Plogg BA, Peng W, Gundersen GA, et al. A paravascular pathway facilitates CSF flow through the brain parenchyma and the clearance of interstitial solutes, including amyloid β. Science translational medicine. 2012;4(147):147ra11-ra11.

#หมอแอมป์ #นายแพทย์ตนุพลวิรุฬหการุญ #การนอนหลับที่ดี #นอนถูกวิธี #LifestyleMedicine #เวชศาสตร์วิถีชีวิต #บีดีเอ็มเอสเวลเนสคลินิก ##BDMSWellnessClinic


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad