การฟื้นฟู การดูแลตนเอง ภาวะพึ่งพิง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566

การฟื้นฟู การดูแลตนเอง ภาวะพึ่งพิง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

 


โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก รายงานปี พ.ศ. 2564 มีจำนวนผู้ป่วย 100 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 6.6 ล้านคน พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.2 ล้านคนต่อปี หนึ่งในสี่เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นและเสียชีวิตปีละ 30,000 คน ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง มากกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่รอดชีวิตมักมีความพิการ ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคม โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดความเสียหายในระยะยาวต่อร่างกาย สติปัญญาการเรียนรู้ จิตใจและสังคม เกิดความพิการและทุพพลภาพที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น ทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำกิจวัตรประจำวันเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย


อาจารย์ ดร. จันทรา แก้วภักดี โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทีมวิจัยจากโรงพยาบาลนครธน
กล่าวว่า ในการสร้างงานวิจัยของการดูแลผู้ป่วยโรค หลอดเลือดสมอง ร่วมกับทีมวิจัย เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน พฤติกรรมเสี่ยงในการดูแลตนเอง ภาวะพึ่งพิง และการสนับสนุนทางสังคม กับคุณภาพชีวิตของผู้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง จากกลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เข้ารับการรักษาที่หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ในการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ภาวะพึ่งพิง และการสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และพฤติกรรมเสี่ยงในการดูแลตนเองมีความสัมพันธ์กับความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้เกิดแนวทางในการวางแผนจัดการภาวะสุขภาพของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยให้เกิดประโยชน์ในการบ่งชี้ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย พัฒนาคุณภาพของระบบการให้การบริการ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ลดจำนวนวันนอนโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปกับค่ารักษาพยาบาล นำไปสู่การพัฒนาแนวปฏิบัติในการพยาบาลอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดผลลัพธ์ในการดูแลการพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ  


โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ส่งผลต่อปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกบุคคล ได้แก่ อายุระดับการศึกษา รายได้และอาชีพ ภาวะซึมเศร้า ความจำบกพร่อง โดยอาชีพที่ไม่มั่นคงมีรายได้ต่อเดือนค่อนข้างน้อยอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และอาจสูญเสียความสามารถในการทำหน้าที่จากพยาธิสภาพของโรค มีความบกพร่องทางกายหรือพิการ มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต การสนับสนุนจากครอบครัวในด้านต่าง ๆ เช่น การให้กำลังใจใส่ใจในการดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้เป็นโรคหลอดเลือดสมองได้รับการดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจจากบุคคลในครอบครัว เกิดเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติพฤติกรรมความร่วมมือในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ แต่ถ้าป่วยแล้วจะเกิดผลกระทบต่อตัวเอง ครอบครัวสังคม และประเทศชาติ ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลที่ดีที่สุดเมื่อต้องประสบกับภาวะโรค ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน และบางครั้งอาจเป็นภาวะเฉียบพลันที่เกิดขึ้นได้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้ป่วยและครอบครัว จากที่เคยช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อเจ็บป่วยจะไม่สามารถดูแลตัวเองและทำงานได้ บทบาทของพยาบาล เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการพยาบาล จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทำให้เกิดผลลัพธ์ในการดูแลการพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad