เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การลาออกของแพทย์ใช้ทุนนั้นเป็นปัญหาที่แพทยสภาให้ความสำคัญและห่วงใย โดยได้มีความพยายามติดตามปัญหามาโดยตลอด แต่แก้ไขได้เพียงบางส่วนเท่าที่มีอำนาจกระทำได้ ด้วยต้นเหตุเรื่องนี้มีความซับซ้อนและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง คือ
1. แพทยสภาในฐานะองค์กรที่กำกับดูแลมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย ซึ่งคณะกรรมการ
แพทยสภา ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย เจ้ากรมแพทย์ทหารบก เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ และนายแพทย์ใหญ่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จำนวน 25 แห่ง ซึ่งผลิตแพทย์ในประเทศไทย โดยมีสัญญาชดใช้ทุน โดยส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในปีแรกเรียกว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะ
2. แพทยสภาตั้งอนุกรรมการเพื่อดูแลแพทย์เพิ่มพูนทักษะเป็นเครือข่าย ปัจจุบันมี 35 เครือข่าย และ 140 โรงพยาบาล เพื่อตรวจเยี่ยมและประเมินสถาบันที่ปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษะ และดูแลแพทย์จบใหม่เกือบทั้งหมดที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข การใช้ทุนแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีที่ 1 เป็นโครงการร่วม เพื่อช่วยให้แพทย์ใหม่ได้เรียนรู้ในการดูแลผู้ป่วยและหัตถการอย่างต่อเนื่อง เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้แพทย์จบใหม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี เป็นประธาน เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยตรงจากทุกเขตสุขภาพ ด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและคณะแพทยศาสตร์ต่าง ๆ ตลอดช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาและลดปัญหาไปได้บางส่วน
3. ปัญหาการลาออกจากราชการของแพทย์ใช้ทุน เป็นปัญหาเชิงซ้อนซึ่งมีต่อเนื่องมาโดยตลอด มีการศึกษาและติดตามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งแพทยสภา แพทย์จบใหม่ทุกคนเป็นกลไกสำคัญของระบบสุขภาพที่ดูแลรักษาประชาชนผู้เจ็บป่วย ให้การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย แต่ยังขาดประสบการณ์ และต้องการการดูแลจากอาจารย์ และแพทย์อาวุโสที่ร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้เกิดความอุ่นใจ และปลอดภัยในการทำงาน ร่วมกับภาระงานต้องไม่หนักเกินกำลัง ในกรณีนี้ แพทยสภาจึงได้กำหนดแนวทางชั่วโมงการทำงานไว้ ในประกาศแพทยสภาที่ 46/2565 กำหนดให้แพทย์เพิ่มพูนทักษะที่ทำงาน ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงให้พัก 4 ชั่วโมงอย่างน้อย และปฏิบัติงานนอกเวลาไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนการปฏิบัติงานเวรอุบัติเหตุฉุกเฉินได้ไม่เกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน เพื่อความปลอดภัยของแพทย์และผู้ป่วย และติดตามว่าโรงพยาบาลใดบ้างที่ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางนี้ได้ และด้วยเหตุใด เพื่อแพทยสภาจะได้เป็นตัวกลางในการช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้อาจมีการเพิ่มเติมรายละเอียดได้ในอนาคต
เมื่อรวบรวมปัญหาที่ทำให้น้องแพทย์ใหม่แต่ละท่าน เกิดความทุกข์ในการทำงาน ขึ้นกับแต่ละสถานที่ ที่ใช้ทุนแตกต่างกันไป ที่สำคัญคือเกิดจากการขาดแคลนแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล บางแห่งมีการขาดแคลนมากเกิดการควบเวร เมื่อเทียบกับภาระงานหรือจำนวนผู้ป่วยที่มาใช้บริการ ทำให้ต้องทำงานมากกว่าที่ควรเป็น รับผิดชอบเกินกำลัง เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขโดยรัฐบาล ซึ่งต้องมีงบประมาณในการจัดจ้างบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติมจากภายนอก นอกเหนือจากที่ได้รับจัดสรรจากแพทย์จบใหม่ อาจจะมาจากผู้ที่เกษียณราชการ หรือภาคเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดี และมีนโยบาย ดูแลสุขภาพเพื่อลดความเจ็บป่วยหรือกระจายผู้ป่วยให้เข้าถึง ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข กำลังดำเนินการอยู่
ปัญหาเรื่องสวัสดิการค่าตอบแทน รวมถึง ภาระหน้าที่และความช่วยเหลือของแพทย์อาวุโสในแต่ละโรงพยาบาล ในการให้คำปรึกษาและช่วยงาน ความเป็นธรรม ในการจัดภาระงาน อาทิ การดูแลคนไข้ นอกเวลาและในวันหยุด ความเสี่ยงของคดีความ และความช่วยเหลือด้านกฎหมายของ รพ. มีความสำคัญในการ ที่ทำให้แพทย์ใหม่ ปฏิบัติงานและปรับตัวผ่านช่วงเพิ่มพูนทักษะได้และอยากรับราชการต่อในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต่อเนื่องกันไปถึงการให้ทุนในการศึกษาต่อด้วย เพราะแพทย์กว่าร้อยละ 80 ต้องการความก้าวหน้าในสายวิชาชีพ ด้วยการเรียนต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
4. คณะกรรมการแพทยสภาในการประชุมครั้งที่ 8/2566 มีมติให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่อเนื่องจากชุดแรกอีกสองชุด ได้แก่
ชุดที่ 1 คณะอนุกรรมการติดตามประสานงานกับแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ปี พ.ศ. 2566 เพื่อติดตามปัญหาตั้งแต่เดือนแรกในการปฏิบัติงาน และทำทางด่วน ( fast track ) ในการแก้ไขเร่งด่วนกับแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเก็บข้อมูลและวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาป้องกันและรักษาแพทย์ใช้ทุนให้อยู่ในระบบได้เรียนรู้และทำงานอย่างมีความสุขโดยมีอุปนายกแพทยสภาคนที่ 2 ศ.คลินิก นพ .วิศิษฎ์ วามวานิชย์ เป็นประธาน
ชุดที่ 2 คณะอนุกรรมการบูรณาการ ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย ราชวิทยาลัย และหน่วยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ก.พ. สปสช. เพื่อวางระบบ การผลิต การศึกษาต่อ และการกระจายแพทย์ ของประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแพทยสภา โดยนายกแพทยสภาเป็นประธาน เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับ ภาระงาน มาตรฐานและความเหมาะสมให้ จัดระบบแพทยศาสตร์ศึกษาของประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการผลักดันกฎหมายควบคุมเวลาการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ตามความเหมาะสม เพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของรัฐบาล
ท้ายที่สุดนี้ ต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนและสมาชิกแพทย์ทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาดังกล่าว นำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเร็งด่วนมากขึ้น การทำงานในระบบสุขภาพของประเทศ องค์ประกอบหลักมิใช่มีเพียง แพทย์เท่านั้น ยังมีสภาวิชาชีพอื่น ๆ โดยเฉพาะพยาบาล และบุคลากรอื่น ๆ ซึ่งมีความขาดแคลนมากกว่าแพทย์ ต้องแก้ไขไปในทิศทางเดียวกัน โดยต้องเป็นธรรม ทั้งภาระงาน สวัสดิการ และค่าตอบแทน ให้สอดคล้องกับแนวความคิดของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้นในยุคสังคมผู้สูงวัย ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสุขภาพประโยชน์การเข้าถึงการรักษาของประชาชนโดยมีความปลอดภัยเป็นสำคัญ ซึ่งแพทยสภาตระหนักเป็นอย่างยิ่งและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาให้กับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องกำลังคน การกระจายที่จะทำงานให้กับประชาชนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น