ม.มหิดลค้นพบ'เวสิเคิลจากกระชายขาว'ต้านเซลล์มะเร็ง เตรียมขยายผลทดลองในสัตว์ - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ม.มหิดลค้นพบ'เวสิเคิลจากกระชายขาว'ต้านเซลล์มะเร็ง เตรียมขยายผลทดลองในสัตว์

ด้วยทรัพยากรบนโลกที่มีอยู่อย่างจำกัด หนทางสู่การทำให้เกิดความยั่งยืน คือการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติใกล้ตัว เพื่อต่อชีวิตบนโลกให้ยืนยาวตราบนานเท่านาน

รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ไชยร้องเดื่อ อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิทยาศาสตร์ไทยรายแรกค้นพบว่า 'เวสิเคิลขนาดนาโน' จากพืชสมุนไพรไทย 'กระชายขาว' ที่คนไทยคุ้นเคยนำมาใช้ประกอบอาหารและเป็นยารักษาโรคอย่างยาวนาน มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งลำไส้ และเซลล์มะเร็งสมอง


ที่ผ่านมามีการศึกษาเวสิเคิลขนาดนาโนที่สร้าง และหลั่งออกมาจากเซลล์สัตว์ เพื่อพัฒนาไปเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับการวินิจฉัย และการพยากรณ์โรคและเป็นเป้าหมายใหม่สำหรับรักษาโรคชนิดต่างๆ อย่างกว้างขวาง แต่ข้อมูลและประโยชน์ของเวสิเคิลขนาดนาโนที่สกัดได้จากพืชยังมีค่อนข้างจำกัด


ทางกลุ่มวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ไชยร้องเดื่อ พบว่า เวสิเคิลขนาดนาโนจากกระชายขาวมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งลำไส้ แต่ไม่มีผลต่อเซลล์ลำไส้ปกติ โดยงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ "PLOS ONE" 


นอกจากเซลล์มะเร็งลำไส้แล้ว ยังพบว่า เวสิเคิลจากกระชายมีฤทธิ์ฆ่าและยับยั้งการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งสมองชนิดที่พบบ่อยในเด็กอีกด้วย จากการค้นพบดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาเวสิเคิลจากกระชายสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง คาดว่าอีก 2 - 3 ปีข้างหน้าจะสามารถขยายผลสู่ระดับสัตว์ทดลอง


รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ไชยร้องเดื่อ กล่าวต่อไปว่า นอกจากกระชายขาวแล้ว ทางกลุ่มวิจัยยังได้ศึกษาประโยชน์ของเวสิเคิลขนาดนาโนจากผลไม้ที่นิยมบริโภคในประเทศไทย คือ ส้มโอ โดยพบเป็นครั้งแรกว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบของเซลล์สมอง ซึ่งอาจนำไปต่อยอดพัฒนาสู่การสร้างยาหรือวิธีการรักษาใหม่สำหรับโรคต่างๆ ที่เกิดจากการอักเสบของเซลล์สมอง อาทิ โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสันได้ต่อไปในอนาคต


กลุ่มผู้วิจัยหวังว่าการศึกษาประโยชน์ของเวสิเคิลจากพืชสมุนไพรและผลไม้ไทย จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของเกษตรกรไทยให้เจริญเติบโต ตลอดจนเป็นการจุดประกายให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติใกล้ตัว และทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ตามปณิธาน "ปัญญาของแผ่นดิน" แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad