ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดอาคารโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (NBF) ให้คณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยไทย-สหราชอาณาจักร ในโครงการความร่วมมือวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุและวัคซีนด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ และคณะสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมห้องแล็บเพื่อการวิจัยต่อยอดขั้นสูงจาก Lab-scale สู่ Pilot-scale สำหรับงานเชิงพาณิชย์ พร้อมมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง รองรับอุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์ของประเทศ โดยมีผู้บริหาร มจธ. นำโดย ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.โสฬส สุวรรณยืน รองอธิการบดี มจธ.บางขุนเทียน ร่วมด้วย รศ.ดร.ชวิน จันทรเสนาวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความเป็นสากล พร้อมด้วยทีมนักวิจัยไบโอเทค และ มจธ. ร่วมต้อนรับ และกล่าวแนะนำภาพรวมโรงงานและความร่วมมือดร.วรินธร สงคสิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงความสำคัญและความจำเป็นในการสร้างความร่วมมือสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตชีววัตถุและสารมูลค่าสูงของประเทศ ด้วยเล็งเห็นถึงคอขวดของการเชื่อมต่องานวิจัยด้านยาชีววัตถุ (Biopharmaceuticals) ซึ่งเป็นยาที่ผลิตโดยใช้กระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพสู่การทดลองในมนุษย์และเชิงพาณิชย์ ดังนั้นศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดตั้ง “โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (National Biopharmaceutical Facility, NBF)” ขึ้นในปี 2551 โดยตั้งอยู่ ณ มจธ.บางขุนเทียน
“ไบโอเทคมีการวิจัยและพัฒนาในโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ หรือ NBF มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากระบวนการผลิตชีววัตถุและวัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการ ได้หลายแพลตฟอร์มแล้ว เช่น แพลตฟอร์มของ monoclonal antibody ที่เป็นกลุ่มชีววัตถุที่ใช้เป็นยาต้านมะเร็ง, แพลตฟอร์ม plasmid DNA และแพลตฟอร์มกลุ่มโปรตีนเพื่อการรักษาโรค เช่น PCV2d ซึ่งเป็นวัคซีนความร่วมมือของไทยโดยไบโอเทค มจธ. และพันธมิตรสหราชอาณาจักรภายใต้ความร่วมมือโครงการ GCRF รวมถึงการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ BPCL ที่มีการให้บริการวิเคราะห์โปรตีนและสารพันธุกรรม นอกจากนี้ ไบโอเทคและพันธมิตรเอกชนยังได้มีความร่วมมือกับ NBF ในการผลิตวัคซีนสำหรับหมูในโรคอื่นที่เป็นการระบาดในประเทศไทย ได้แก่ PEDV และ PRRS โดยปัจจุบันมีการผลิตธนาคารเซลล์ที่ใช้เพาะเลี้ยงไวรัส ณ โรงงานต้นแบบนี้เรียบร้อยแล้ว” ดร.วรินธร สงคสิริ กล่าวด้าน ผศ.ดร.ลลิลทิพย์ หอเจริญ นักวิจัย โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มจธ. กล่าวว่า โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ หรือ National Biopharmaceutical Facility (NBF) สร้างขึ้นเพื่อเป็นหน่วยเชื่อมต่องานของนักวิจัยกับการทดสอบยาชีววัตถุและวัคซีนในขั้น pre-clinic และ clinical phase I, II โดย NBF มีหน่วยงานที่ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนากระบวนการผลิตระดับเล็ก (มากกว่าหรือเท่ากับ 5 ลิตร) ระดับ pilot (5 - 30 ลิตร) สำหรับทั้งกระบวนการต้นน้ำ (การหมัก/เลี้ยงเซลล์) และปลายน้ำ (การทำให้สารบริสุทธิ์) ไปจนถึงการผลิตในโรงงานต้นแบบที่มีกำลังการผลิตสูงสุดคือ 2,000 ลิตร รวมถึง NBF ยังมีเครื่องมือและห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ชีววัตถุและวัคซีน ที่พร้อมรองรับการวิเคราะห์ตั้งแต่คุณลักษณะเบื้องต้น ไปจนถึงระดับที่ต้องใช้เทคนิคขั้นสูงและเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น การวิเคราะห์ลำดับขั้นของสารพันธุกรรม และโปรตีน เป็นต้น
“สำหรับวัคซีนในโครงการไทย-สหราชอาณาจักร โครงการมีการพัฒนา candidate vaccine (วัคซีนที่อยู่ระหว่างการคัดเลือก) สำหรับหมู เป็นวัคซีน Porcine Circovirus type 2d (PCV2d) ซึ่งขณะนี้ได้ทดสอบวัคซีนต้นแบบในสัตว์เล็กคือ หนูและกระต่ายไปแล้ว พบว่า วัคซีนต้นแบบสามารถกระตุ้นให้สัตว์สร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับไวรัส PCV2 ได้ และมีแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ที่ลดการติดเชื้อของไวรัสในระบบเซลล์ได้ อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดต้องไปทำการทดลองในสัตว์ที่จะใช้จริง คือ สุกร ซึ่งอาจจะทำในประเทศไทยไม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ที่เหมาะสม และการหาหมูที่ไม่ได้ฉีด PCV2 มาก่อน ขณะเดียวกัน ทาง NBF และมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (UCL) ได้มีการทำงานร่วมกันด้านการพัฒนากระบวนการผลิตและขยายขนาดไปที่ 30 ลิตร ซึ่งกระบวนการผลิตดังกล่าว ประสบความสำเร็จด้วยดี สามารถผลิต candidate vaccine PCV2d ได้มากถึง 200,000 โดส ต่อขนาดการผลิต 30 ลิตร ดังนั้น ภาพรวมของโครงการนี้คือ อยู่ระหว่างทดลองในหมู และนำผลการศึกษาไปปรึกษากับทาง อย. เพื่อหาแนวทางร่วมกัน สำหรับโอกาสการขึ้นทะเบียนวัคซีนสำหรับสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศต่อไป” ผศ.ดร.ลลิลทิพย์ หอเจริญ กล่าวทั้งนี้ ในการเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ทำให้เห็นภาพความสำคัญของการวิจัยต่อยอดเพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย โดยคณะครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชมหน่วยงาน 3 แห่ง ได้แก่ แห่งแรก ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมกระบวนการชีวภาพ (Bioprocess Research and Innovation Centre, BRIC) เพื่อเห็นภาพของการ Scale-up จาก Lab scale สู่ Pilot scale แห่งที่สองคือ ห้องปฏิบัติการ Biopharmaceutical Characterization Laboratory (BPCL) เพื่อเห็นภาพการวิเคราะห์คุณสมบัติลักษณะเฉพาะยาชีววัตถุ เช่น กลุ่มวัคซีน ยา anti-cancer เป็นต้น และแห่งที่สามคือ ส่วนการผลิตโดยใช้ระบบ single-use system ณ อาคารโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ เพื่อเห็นภาพของการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำโดยมีกำลังการผลิตที่สูงสุด 2,000 ลิตร ที่ตั้งอยู่ในโรงงานด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น