วันที่ 23 มิถุนายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดพิธีส่งมอบต้นกล้าพันธุ์เบญจมาศเหลืองขมิ้นปลอดโรค และสายพันธุ์ใหม่ “TISTR NRCT-01” และส่งมอบเครื่องผลิตปุ๋ยอัดเม็ดอินทรีย์ ให้แก่ชุมชนบ้านตาติด โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พร้อมนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยคณะกรรมการดำเนินงาน การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่การใช้ประโยชน์ ร่วมการส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งมี ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. นางวิไลวรรณ หล้าแหล่ง หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย ดร.กนกอร อัมพรายน์ หัวหน้าโครงการวิจัย ผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ และเกษตรกรในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ บ้านตาติด อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในนามของรัฐบาล ได้เน้นนโยบายการสร้างรายได้ให้เกษตรกร ในการสนับสนุนการพัฒนาการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่บ้านตาติด มีการทำสวนดอกเบญจมาศจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจระยะสั้นที่สามารถทำเงิน สร้างรายได้รวดเร็ว มีความต้องการจำนวนมาก และได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ทั้งการปลูกเบญจมาศและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จาก วว. ภายใต้การสนับสนุนทุนของ วช. ที่มีนโยบายริเริ่มการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่การใช้ประโยชน์มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัยในพื้นที่ การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางภาครัฐ เอกชน นักวิจัย ประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ไปสู่ความสามารถที่ส่งผลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตสินค้าและการบริการ และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนหรือสังคมได้อย่างยั่งยืน
นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม วช. กล่าวว่า กระทรวง อว. โดย วช. และ วว. ได้ร่วมกันส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่การใช้ประโยชน์ ภายใต้การพัฒนาศักยภาพการผลิตเบญจมาศบ้านตาติดด้วยต้นพันธุ์ปลอดโรคและปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ในพื้นที่ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ก่อให้เกิดวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อม สร้างอาชีพใหม่ในชุมชนและท้องถิ่น ชุมชนเกิดกระบวนการพัฒนาและต่อยอดกลุ่มวิสาหกิจอย่างเป็นรูปธรรม เกิดระบบการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เกษตรกรหรือชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปลูกพืชผ่านนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดได้ อีกทั้ง มีการถ่ายทอดกระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในกระบวนการผลิตไม้ตัดดอกก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่สามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงขึ้น เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ เป็นต้น
นางวิไลวรรณ หล้าแหล่ง หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า เกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านตาติด ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี แห่งนี้ ถูกเลือกเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาด้วยงานวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาปัจจัยการผลิต และการทำเกษตรปลอดภัยสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ ส่งเสริมการปลูกตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สามารถลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิต สร้างกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกเลี้ยงให้เข้มแข็ง ทำให้สามารถยกระดับภาคเกษตรเป็นธุรกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการในพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
สำหรับดอกเบญจมาศสายพันธุ์เหลืองขมิ้นปลอดโรค และสายพันธุ์ใหม่ “TISTR NRCT-01” และเครื่องผลิตปุ๋ยอัดเม็ดอินทรีย์ ที่ทำการส่งมอบในครั้งนี้ เป็นผลงานที่ได้จากโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพการผลิตเบญจมาศบ้านตาติดด้วยต้นพันธุ์ปลอดโรคและปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง” ที่ วช. ให้ทุนสนับสนุนแก่
ดร.กนกอร อัมพรายน์ นักวิจัย วว. ดำเนินโครงการ เพื่อยกระดับการเกษตรของพื้นที่ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม โดยการจัด กิจกรรม “การถ่ายทอดองค์ความรู้ และมอบต้นกล้าพันธุ์จากงานวิจัยสู่เกษตรกร” ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตดอกเบญจมาศและแปลงใหญ่ไม้ดอก บ้านตาติด ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนงานวิจัยในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการเผยแพร่งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การขยายผลและใช้ประโยชน์ และมีการส่งมอบเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตดอกเบญจมาศและแปลงใหญ่ดอกไม้เพื่อผลิตปุ๋ยใช้เองในพื้นที่ได้อย่างครบวงจร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น