วช. เชิดชู ศ.ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 66 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ใช้งานวิจัยสยบมาลาเรียในอาเซียน ช่วยสกัดการแพร่เชื้อไปทั่วโลก - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566

วช. เชิดชู ศ.ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 66 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ใช้งานวิจัยสยบมาลาเรียในอาเซียน ช่วยสกัดการแพร่เชื้อไปทั่วโลก

วันที่ 30 มีนาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานแถลงข่าว “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 2” เปิดตัว ศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ แห่ง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2566 โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพฯ 

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า  วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีภารกิจที่สำคัญในการยกย่อง เชิดชู ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2566 ให้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ แห่ง ภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์โรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ วช. จัดให้มีการมอบรางวัลฯ เพื่อเป็น “กำลังใจ” ให้นักวิจัยไทยมืออาชีพที่ได้อุทิศตนให้กับการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติจนเป็นที่ประจักษ์ และที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับยกย่องว่ามีจริยธรรมของนักวิจัย สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยผู้อื่นได้ ซึ่งเวที NRCT Talk จะเป็นเวทีในการที่จะนำนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติแต่ละสาขามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยทางด้านสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยเกิดยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการต่อสังคมและเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อสังคมของประเทศชาติต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กล่าวว่า ทั่วโลกเผชิญปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยา มาลาเรียยังคงเป็นปัญหาหลักสำคัญของโลกคร่าชีวิตของผู้ป่วยทั่วโลกมากกว่า 600,000 คน ต่อปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของไทยและองค์การอนามัยโลกได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยปลอดจากเชื้อมาลาเรียภายในปี พ.ศ. 2567 นำไปสู่การประยุกต์ใช้เทคนิคทางชีวโมเลกุลเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ในการกำจัดมาลาเรียรวมถึงการดื้อยาทั้งในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง โดยจากผลการวิจัยนำไปสู่การพัฒนาเทคนิคทางชีวโมเลกุลการตรวจหาผู้ที่ติดซื้อมาลาเรียแบบไม่แสดงอาการที่มีความไวสูงกว่าเทคนิคมาตรฐานกว่า 2,000 เท่า และนำไปตรวจในอาสาสมัครที่แข็งแรงจากไทย ลาว และกัมพูชา จำนวน 61,544 ราย เป็นครั้งแรก ทำให้สามารถบ่งชี้ได้ว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อบ้างอยู่บริเวณใดและได้ดำเนินการให้ได้รับยาในรูปแบบ mass drug administration เพื่อกำจัดเชื้อมาลาเรีย ส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อมาลาเรียลดลงถึง 5 เท่าหลังการใช้ยา จากการศึกษาค้นคว้าสู่การค้นพบการแพร่กระจายการดื้อยาอาร์เทมิซินิน จากเมืองไพลิน ประเทศกัมพูชาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ลาว และเวียดนาม เป็นครั้งแรกของโลก ส่งผลให้เกิดการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้การแพร่กระจายการดื้อยานี้กระจายไปสู่ พม่า อินเดีย และไปถึงแอฟริกาในที่สุด จากการค้นพบนี้จะช่วยสร้างระบบเร่งรัดกำจัดเชื้อมาลาเรียดื้อยาเพิ่มประสิทธิภาพของยารักษาโรคมาลาเรียที่มีอยู่สู่การพัฒนายาใหม่ควบคุมและกำจัดโรคมาลาเรียได้อย่างทันท่วงที สำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อมาลาเรีย ได้ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0 2306 9100-09 ต่อ 1414 และ 1418

ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชู ให้นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยท่านอื่น ๆ เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคน พัฒนางาน พร้อมยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้สู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโลกแห่งอนาคต สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนประเทศได้อย่างยั่งยืน 










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad