รู้เท่าทัน.....โรคไวรัสตับอักเสบบี ภัยเงียบอันตราย - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566

รู้เท่าทัน.....โรคไวรัสตับอักเสบบี ภัยเงียบอันตราย


“โรคไวรัสตับอักเสบบี”
ถือว่าเป็นภัยสุขภาพที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งนับเป็นประเทศที่มีอุบัติการณ์ในการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบบีสูง เนื่องจากโรคไวรัสตับอักเสบบีสามารถนำไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม 

อาจารย์ แพทย์หญิงศุภมาส เชิญอักษร  สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ  ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า  โรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคไวรัสชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อเซลล์ตับของเราโดยตรง  ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคตับแข็งและมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคตับแข็งได้  เช่น  มีตัวหรือตาเหลือง มีท้องมานหรือน้ำในช่องท้อง  หรืออาจจะมีเส้นเลือดขอดที่หลอดอาหาร   ซึ่งผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือดสดหรือถ่ายเป็นเลือดสดได้    นอกจากนี้ยังมีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งตับได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นไวรัสตับอักเสบบี 


โรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ 

-โรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี แบบเฉียบพลัน (เป็นแล้วหายภายใน 6 เดือน)  ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนไวรัสตับอักเสบทั่วไป เช่น มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม  ถ้าเป็นแบบรุนแรงผู้ป่วยมีโอกาสตับวายได้

-โรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี  แบบเรื้อรัง (เป็นนานกว่า 6 เดือน) โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ ตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี การไปบริจาคเลือด หรืออาจจะมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ตับแข็ง ตัวตาเหลือง ท้องมาน  อาเจียนเป็นเลือดสด ถ่ายเป็นเลือดสด   โรคมะเร็งตับ  ซึ่งในบ้านเราที่พบโดยส่วนใหญ่มักเป็นแบบเรื้อรัง 


 การติดต่อของโรคไวรัสตับอักเสบบี  

โรคไวรัสตับอักเสบบีติดต่อผ่านช่องทางหลักคือผลิตภัณฑ์เลือด น้ำเหลืองและสารคัดหลั่ง ซึ่งติดต่อได้โดย

1.จากแม่สู่ลูก   มารดาที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีที่ตั้งครรภ์มีโอกาสส่งผ่านเชื้อไวรัสตับอักเสบบีไปสู่ทารกได้

2.จากคนสู่คน   เช่น 

- การรับผลิตภัณฑ์เลือดหรืออวัยวะจากคนที่มีไวรัสตับอักเสบบี

- การใช้เข็มฉีดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นหรือการใช้เข็มสักร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ

-การใช้ที่โกนหนวด ที่ตัดเล็บ แปรงสีฟัน ที่อาจมีการปนเปื้อนของเลือดร่วมกัน 

-การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีโดยที่ไม่ได้ป้องกันก็จะมีโอกาสติดต่อกันได้  

 สำหรับสารคัดหลั่งอื่น ๆ เช่น น้ำลายนับเป็นสารคัดหลั่งที่มีปริมาณไวรัสตับอักเสบบีน้อยมากทำให้โอกาสในการติดต่อผ่านทางน้ำลายเกิดขึ้นได้ยาก  ยกเว้นกรณีมีแผลในช่องปากหรือไรฟัน     และไม่ติดต่อทางน้ำนมดังนั้นมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติหากไม่ได้กินยาต้านไวรัสอยู่  แต่ต้องระวังอย่าให้หัวนมมีเลือดออกหรือมีบาดแผลซึ่งจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อได้


การตรวจวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบี

โรคไวรัสตับอักเสบบีสามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยการตรวจเลือด    สำหรับการตรวจอื่น ๆ จะเป็นการตรวจเพื่อประเมินระยะและภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่น การทำอัลตราซาวด์ช่องท้อง  การใช้เครื่องไฟโบรสแกนหรือตรวจเลือดเพื่อประเมินระดับพังผืดในตับและไขมันในตับ เป็นต้น      เมื่อผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีแล้ว  ต้องมาตรวจประเมินระยะของโรคเพิ่มเติมว่าเขาจะต้องเข้าสู่การรักษาด้วยยาหรือไม่   และแม้จะไม่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาก็ยังจำเป็นต้องได้รับการติดตามอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี 

การดูแลตนเอง 

ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีจะต้องมีการดูแลตนเอง ดังนี้ 

1.การดูแลสุขภาพส่วนบุคคล   ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีควรต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เกี่ยวกับโรคตับเพิ่มขึ้น เช่น งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด, ไม่กินยาหรืออาหารเสริมโดยไม่จำเป็น, กินอาหารสุกและสะอาด, อย่าให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน เป็นต้น   และควรส่งเสริมสุขภาวะที่ดีเกี่ยวกับตับ เช่น ควบคุมน้ำหนัก, ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง เป็นต้น     

2.การลดความเสี่ยงในการส่งผ่านโรคไวรัสตับอักเสบบีให้กับผู้อื่น   เช่น   แยกอุปกรณ์ที่ใช้ที่มีโอกาสทำให้เลือดออกของตนเองออกมา   เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับใครต้องบอกเขาให้ทราบและต้องป้องกันอย่างเหมาะสม ในหญิงที่ตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์เนื่องจากจะมีการคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีในหญิงที่มาฝากครรภ์ทุกรายเพื่อให้ได้รับยาหรือวัคซีนที่จะสามารถลดการส่งผ่านเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การรักษาด้วยยา 

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีมี 2 กลุ่มคือ ยารับประทานและยาฉีด แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการรักษาด้วยยา    ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยยา คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดตับแข็งหรือมะเร็งตับ อันได้แก่   

-ตรวจพบการอักเสบของตับอย่างเรื้อรัง  โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีค่าเอนไซม์ของตับสูงกว่าคนปกติเกิน 1.5-2 เท่าติดต่อกันมากกว่า 3 เดือนขึ้นไปโดยไม่มีสาเหตุอื่น เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การกินยาบางชนิด  เป็นต้น     

-มีจำนวนเชื้อไวรัสบีในเลือดมาก ตามมาตรฐานการรักษาในเวชปฏิบัติไทยกำหนดว่าจำนวนไวรัสปริมาณเกิน 2,000 IU/ml

-ตรวจพบพังผืดในตับมากระดับ 2 เป็นต้นไปหรือมีภาวะตับแข็งแล้ว      

1.ยารับประทาน     กินง่าย  แต่ระยะเวลาในการรักษาไม่แน่นอน  โดยส่วนใหญ่มักต้องกินยาไปเรื่อย ๆ เพื่อควบคุมจำนวนเชื้อในกระแสเลือด โอกาสในการหายขาดจากโรคน้อยกว่ายาฉีด  ผลข้างเคียงจากยามักไม่ค่อยรุนแรง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการเกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งเกิดจากชนิดของยา ธรรมชาติของไวรัสและพฤติกรรมการกินยาของผู้ป่วย คือกินไม่สม่ำเสมอ ละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการกินยา

 2.ยาฉีด   มีโอกาสในการหายขาดจากโรคมากกว่ากลุ่มยารับประทาน  มีระยะเวลาการใช้ที่แน่นอนคือ ประมาณ 1 ปี  ผลข้างเคียงจากยาค่อนข้างมากเกือบใกล้เคียงกับการได้ยาเคมีบำบัด ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่สามารถทนผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้   นอกจากนี้ราคายาฉีดมีราคาที่สูงกว่ายาชนิดรับประทาน

สำหรับผู้ป่วยบางคนที่ไม่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยยายังคงต้องได้รับการติดตามจากแพทย์ต่อไป  ทุก  3-6 เดือน หรือปีละครั้ง  เพราะธรรมชาติของไวรัสตับอักเสบบีนั้น  หากมีปัจจัยที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันมากระตุ้น  เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ  อาจทำให้ตัวโรคกำเริบขึ้นมาได้  ดังนั้นการติดตามอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้

 “พาหะ” ไวรัสตับอักเสบบี คือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

ในอดีตมีการใช้คำว่า พาหะของไวรัสตับอักเสบบี โดยหมายถึงผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีแต่ไม่มีอาการ ทำให้ละเลยในการตรวจติดตาม ในเวลาต่อมาพบว่าธรรมชาติของไวรัสตับอักเสบบีในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน แม้ในรายที่บอกว่าเป็นพาหะก็มีโอกาสเกิดตับแข็งและมะเร็งตับได้เช่นกัน ปัจจุบันจึงไม่ควรมีคำว่าพาหะไวรัสตับอักเสบบี เพราะพาหะคือเป็นไวรัสตับอักเสบบีจำเป็นต้องได้รับการดูแลติดตามเหมือนผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีทุกราย

โรคไวรัสตับอักเสบบี รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีมีโอกาสหายขาดได้ทั้งหายเองโดยธรรมชาติและจากการรักษาด้วยยา หากหายแบบธรรมชาติแล้วมักจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น สำหรับการหายจากการรักษาด้วยยาแม้จะเกิดขึ้นไม่ง่ายนักแต่จะสามารถควบคุมการอักเสบของตับและลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้  

การป้องกันไวรัสตับอักเสบบี  ทำได้โดย 

-การป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งนับเป็นช่องทางการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุด ปัจจุบันทารกแรกเกิดจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีหลังคลอดทุกราย ซึ่งวัคซีนจะออกฤทธิ์หลังฉีดประมาณ 6 เดือน  สำหรับทารกที่มารดาเป็นไวรัสตับอักเสบบี นอกเหนือจากการพิจารณาให้ยากินเพื่อลดจำนวนไวรัสในกระแสเลือดระหว่างการตั้งครรภ์ในช่วงสามเดือนสุดท้ายแล้วจะได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีชนิดพิเศษที่สามารถออกฤทธิ์เพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบบีได้ทันทีร่วมด้วย

-มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกัน    

-หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนของเลือดร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา มีดโกนหนวด แปรงสีฟัน การสัก  

-ปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี   

อาจารย์ แพทย์หญิงศุภมาส  กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้เห็นถึงความสำคัญของโรคไวรัสตับอักเสบบี  ถ้าเป็นโรคนี้แล้วก็ขอให้คิดว่าเป็นเพื่อนของเราอีกคนที่เราต้องดูแลเป็นอย่างดี  ทั้งในแง่การป้องกันและการรักษา  นอกจากนี้ผู้ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีอย่าไปรังเกียจเขา รู้ช่องทางการติดต่อและป้องกัน เราก็จะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับเขาได้อย่างสงบสุข

โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นภัยเงียบที่อาจจะไม่แสดงอาการ   ดังนั้นผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอย่านิ่งนอนใจควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินและรักษา  รวมทั้งต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในอนาคตที่อาจทำให้เสียชีวิตได้   สำหรับผู้ที่ไม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี   รวมถึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี หากร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad