“โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง” เป็นโรคที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 ของโรคมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยา โดยพบในคนทุกกลุ่มวัย แม้ว่าโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะพบได้บ่อย หากได้รับการรักษาเร็ว มีโอกาสหายขาดสูงถึง 80%
ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองให้มากยิ่งขึ้น รศ. พญ.พิมพ์ใจ นิภารักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
รศ. พญ.พิมพ์ใจ กล่าวว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่มีมะเร็งเกิดขึ้นในต่อมน้ำเหลือง ที่มีการกระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณลำคอ บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ข้อพับขา นอกจากนี้มะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นของร่างกายได้ เช่น ในสมอง ปอด ตับ ลำไส้ เป็นต้น
ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีหลายชนิด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่คือ 1.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma) และ 2.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะพบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินสามารถแบ่งออกได้เป็น 30 ชนิดย่อย เช่น ชนิด B – Cell ชนิด T – Cell ชนิด NK-Cell เป็นต้น ถ้าแบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง (Aggressive lymphoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน หากรู้เร็วและรักษาได้ทันทีก็มีโอกาสที่จะหายขาดอยู่มาก
2.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent lymphoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้า บางครั้งมีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้แก่
1. ปัจจัยภายใน เช่น ความผิดปกติของโครโมโซมหรือยีนในร่างกาย
2. ปัจจัยภายนอก ได้แก่
-การสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า สีย้อมผม ยาทาเล็บ ยาล้างเล็บ เป็นต้น
-ศัลยกรรม เช่น การผ่าตัดศัลยกรรมบริเวณเต้านม การใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไป อาจทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณเต้านมได้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (SLE) และผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ( HIV) มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้มากขึ้น
-การติดเชื้อการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น H.Pyroli ที่กระเพาะอาหาร
อาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
-ต่อมน้ำเหลืองโต มีก้อนที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ที่คอ รักแร้ ขาหนีบ ต้นขา เป็นต้น
-มีไข้ ตั้งแต่ไข้ต่ำ ๆ จนถึงไข้สูง
-มีเหงื่อออกมากผิดปกติ เช่น อยู่ในห้องแอร์เหงื่อออกเต็มไปหมด เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน เป็นต้น
-เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะเริ่มจากการซักประวัติตรวจร่างกาย จากนั้นจะตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่
-ตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา
-ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan ที่บริเวณคอ ช่องอก ช่องท้อง หรือบริเวณที่มีก้อน เพื่อตรวจระยะของโรคมะเร็ง
-เจาะไขกระดูก เพื่อประเมินการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองไปในไขกระดูก
-ตรวจด้วยเครื่องเพ็ทสแกน (Pet Scan) เพื่อตรวจดูตำแหน่งและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในร่างกาย กรณีสามารถเข้าถึงการตรวจนี้ได้
- การตรวจก้อนในช่องท้องด้วย Ultrasound กรณีทำ PET Pet Scan หรือ CT Scan ไม่ได้
การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแต่ละคนนั้นจะขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองต่อไป
การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
เนื่องจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีหลายชนิด การรักษาจึงมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและระยะของมะเร็ง การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้แก่
-การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
-การรักษาด้วยการฉายแสง อาจจะพิจารณารักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 1 (มะเร็งยังคงอยู่ในต่อมน้ำเหลือง) กรณีที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
นอกจากนี้แพทย์จะรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสี ในกรณีที่ผู้ป่วยรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแล้วยังมีก้อนมะเร็งหลงเหลืออยู่ หรือยังไม่ได้รับการรักษาที่หายขาด และในกรณีที่ผู้ป่วยมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองมีก้อนขนาดใหญ่มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
-การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)
-การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด(Stem cell transplantation) วิธีนี้รักษาได้ผลเป็นอย่างดีในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง มีอาการดื้อยา หรือผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำอีก
ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งพบว่าได้ประสิทธิภาพที่ดี สามารถทำให้มะเร็งต่อมน้ำเหลืองหายขาดได้
การป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
การป้องกันโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยหลัก ๆ ทั่วไป ได้แก่
-รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด ครบ 5 หมู่
-ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด
-หลีกเลี่ยงการสัมผัสมลพิษ สารเคมี โดยตรง
- ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ HIV
- เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติ
รศ. พญ.พิมพ์ใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรักษาหายได้ ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางคนไม่ยอมรักษาด้วยยาเคมีบำบัด บางทีอาจไปรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกอื่น โดยส่วนตัวอยากให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องก่อน นอกจากนี้เมื่อรักษาแล้ว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจกลับมาเป็นซ้ำอีกหรือโรคอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดสูตรแรก สามารถให้ยาเคมีบำบัดสูตรอื่นได้ หรือถ้าผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60-65 ปี สามารถรักษาต่อด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดได้ นอกจากนี้ ณ ปัจจุบันยังมียามุ่งเป้า มียาอื่นที่ช่วยในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ เพราะฉะนั้นไม่อยากให้ผู้ป่วยท้อใจรีบไปปรึกษาแพทย์ และได้รับการรักษาโดยเร็ว เพราะอาจจะทำให้ตัวโรคสงบได้ง่าย และโรคกลับมาเป็นซ้ำได้ยากกว่ากรณีที่ปล่อยโรคทิ้งไว้นาน
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หากตรวจพบเร็ว รักษาเร็ว ปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำ พบแพทย์สม่ำเสมอ สามารถหายขาดได้ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องหมั่นดูแลสุขภาพตนเอง ตรวจเช็กสุขภาพประจำปี หากพบสิ่งผิดปกติ จะทำให้เข้าถึงการวินิจฉัยและเข้าถึงการรักษาได้เร็ว ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาได้ผลมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น