เรียนรู้และเข้าใจกับ “โรคซึมเศร้า” - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2566

เรียนรู้และเข้าใจกับ “โรคซึมเศร้า”


โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่มีความซับซ้อน และมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สามารถเกิดได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงมาก  เพิ่มความเครียดและความกดดันมากยิ่งขึ้น  ส่งผลทำให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ    และที่สำคัญคือมีคนจำนวนไม่น้อยเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม หรือทันท่วงที  

เราจะมาทำความรู้จักโรคซึมเศร้าในแง่มุมต่าง ๆ ให้มากขึ้น  โดยอาจารย์ นายแพทย์กานต์  จำรูญโรจน์  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรค  เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการระแวดระวัง และหาทางป้องกันหรือรีบรักษา

อาจารย์ นายแพทย์กานต์  กล่าวว่า  โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง  โดยปกติมนุษย์เราทุกคนมีอารมณ์ ขึ้น ลง ดี ไม่ดี ได้เป็นปกติ  แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีการควบคุมอารมณ์ที่มีความผิดปกติไป   โดยเป็นในลักษณะอารมณ์เศร้าเกิดขึ้นในระยะเวลาต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และเกิดขึ้นเกือบทั้งวัน  และมีอาการอื่นร่วมด้วย  ได้แก่

-การนอนเปลี่ยนแปลงไป เช่น นอนไม่หลับ  หลับๆ ตื่นๆ บางคนอาจจะนอนหลับมากเกินปกติ

-การรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงไป เช่น  เบื่ออาหาร ไม่อยากทานอาหาร   บางคนทานอาหารมากกว่าเดิม 

-สมาธิความจำเปลี่ยนแปลงไป  ความคิดความอ่านช้าลง   ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงทำอะไร

-มีความคิดในเชิงลบ  เช่น  คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า  เบื่อหน่ายชีวิต  ทำร้ายตนเอง   ไม่อยากมีชีวิตอยู่  

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนอาจจะไม่ใช่ลักษณะอาการอารมณ์เศร้า แต่เป็นอารมณ์เบื่อหน่ายหรือหงุดหงิด  ไม่อยากทำอะไร มีความคิดไปในทางเชิงลบ  อาการเหล่านี้ไม่หายไป แม้ว่าสิ่งที่มากระตุ้นหายไปหรือคลี่คลายขึ้น   หากมีอาการเหล่านี้หรือผู้ใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ให้รีบมาพบแพทย์  เพื่อมารับการดูแลรักษา 


สาเหตุและปัจจัยของการเกิดโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีความซับซ้อน   เนื่องจากเป็นโรคทางอารมณ์   โดยมีสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน   ดังนี้

-ปัจจัยทางด้านชีววิทยา  ในแง่ของพันธุกรรมและพื้นอารมณ์ที่มีมาแต่กำเนิด  ในครอบครัวที่มีประวัติการเป็นโรคซึมเศร้าค่อนข้างมาก  อาจจะมีแนวโน้มทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น  แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นโรคซึมเศร้าแล้วจะต้องเป็นโรคซึมเศร้าทุกคน     นอกจากนี้จะมีในเรื่องพื้นอารมณ์ที่มาแต่กำเนิด  บางคนอาจจะมีแนวโน้มที่จะมีความเครียดง่ายมาตั้งแต่เด็ก 

-ปัจจัยทางด้านพื้นฐานอารมณ์และจิตใจ หลายคนอาจได้รับการเรียนรู้ที่จะรับมือกับอารมณ์มาตั้งแต่เด็กจนโตแตกต่างกันไป    บางคนเติบโตขึ้นมาแล้วอาจจะไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการรับมือกับความเครียด  ความกดดัน และสภาวะอารมณ์  ก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะมีอาการเครียดง่าย    ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้

-ปัจจัยทางด้านสังคม  มีอิทธิพลมากในปัจจุบันนี้  เนื่องจากความกดดันความเครียดและสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามารอบด้าน  ได้แก่ การรับข้อมูลข่าวสารจากหลายช่องทางนั้นก่อให้เกิดความเครียด รวมทั้งสภาวะสังคมที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสภาวะจิตใจร่วมกัน   ยกตัวอย่าง  การที่เราเน้นให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงานอย่างมาก จนไม่ได้ดูแลสภาวะจิตใจ  ก็จะทำให้เกิดความเครียด และส่งผลต่อการโรคซึมเศร้าได้  

การตรวจวินิจฉัยโรคซึมเศร้า


การตรวจวินิจฉัยโรคซึมเศร้า จิตแพทย์จะพูดคุยสอบถามอาการ คล้ายกับที่เวลาผู้ป่วยมาตรวจโรคทางกาย และมักใช้เวลาในการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในลักษณะปัญหาและลักษณะอาการที่ผู้ป่วยมารับการดูแลรักษา  และในบางครั้งอาจต้องขอให้ผู้ใกล้ชิดช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วย   เพื่อจะได้ข้อมูลที่ช่วยในการรักษามากยิ่งขึ้น 


ในบางครั้งผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกายเบื้องต้น หรือส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย  เนื่องจากอาการด้านอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคจิตเวชอย่างเดียว   พบว่าโรคทางกายบางโรคอาจจะส่งผลทำให้เกิดอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน   

นอกจากนี้อาจมีการตรวจทางด้านสภาพจิตเพิ่มเติม เช่น การตรวจเกี่ยวข้องกับสมาธิความจำ  การตรวจเกี่ยวข้องกับความคิดความอ่าน   ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละคน   

ข้อมูลทั้งหมดนี้จิตแพทย์จะนำมาวินิจฉัย  แจ้งให้ผู้ป่วยทราบ เพื่อทำการดูแลรักษาต่อไป


แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้า 

การรักษาโรคซึมเศร้านั้น  ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันไป   ซึ่งการรักษาหลัก ๆ คือ การรักษาด้วยยาและการรักษาโดยไม่ใช้ยา   และจากการศึกษาวิจัยพบว่า  การรักษาโรคซึมเศร้าที่จะได้ผลดีที่สุดก็คือ การรักษาร่วมกันระหว่างการรักษาด้วยยาและการรักษาโดยไม่ใช้ยา  

-การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้าคือ ยาต้านเศร้าหรือ Antidepressant   ยานี้มีหลายกลุ่มด้วยกัน   การให้ยาต้านเศร้านั้นจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน  ซึ่งต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยแต่ละคนเหมาะกับยากลุ่มไหน  

นอกเหนือจากการให้ยาต้านเศร้าแล้ว จิตแพทย์อาจให้ยาบางชนิดเพื่อประคับประคองอาการในช่วงแรกเท่านั้น ซึ่งเป็นยาที่ไม่ได้รับประทานต่อเนื่อง ได้แก่  ยาช่วยเรื่องการนอนหลับ  ยาช่วยคลายความวิตกกังวล เป็นต้น 

-การรักษาโดยไม่ใช้ยา   ได้แก่ การพูดคุยให้คำปรึกษา   การทำจิตบำบัด   การรักษาด้วยไฟฟ้าซึ่งเป็นวิธีการรักษาโดยใช้กระแสไฟฟ้าในระดับที่ไม่เกิดอันตรายกับร่างกายในการรักษา 

นอกจากนี้ผู้ป่วยควรปรับเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์  การออกกำลังกายสม่ำเสมอ   มีกิจกรรมร่วมกับคนที่รักและไว้ใจ   เป็นต้น ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการรักษาเสริมควบคู่กันไปด้วย 


ผลแทรกซ้อนหากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่เข้าสู่การรักษา

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีลักษณะของอาการไม่มากจนถึงมีอาการระดับรุนแรง  ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนอาจจะสังเกตอาการได้เมื่อเป็นระดับกลางหรือระดับรุนแรงแล้ว  หากผู้ป่วยมีอาการในระดับรุนแรง เช่น มีความคิดที่ติดลบ  มีความคิดที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่  ถ้าไม่มารับการรักษาแล้วจะเกิดอันตรายมาก  เพราะจะมีผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยได้     สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการไม่รุนแรง  ถ้าไม่มารักษา  ก็มีโอกาสที่จะหายได้ด้วยตนเองได้ ซึ่งใช้เวลานาน  แต่ถ้าหากผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาก็จะทำให้หายได้เร็วขึ้น และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้เร็วขึ้นกว่า  


การติดตามอาการโรคซึมเศร้า  

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง   ซึ่งระยะเวลาในการรักษาโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป   โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 1-2 เดือนหลังได้รับการรักษาและพบวิธีการรักษาที่เข้าได้กับแต่ละคน และหลังจากนั้นจะต้องคงการรักษาไปอย่างน้อย 1 ปี และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ  แต่ทั้งนี้โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีแนวโน้มเป็นโรคเรื้อรังได้    นั่นคือ แม้ว่าอาการของโรคจะหายแล้ว   โรคอาจจะมีอาการกำเริบเกิดขึ้นได้อีก  จากการติดตามในระยะหลายปี พบว่าปัจจัยหลายอย่างในชีวิต รวมถึงความเครียดสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบได้ในครั้งต่อไป    ดังนั้นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจจะต้องดูแลและสังเกตอาการตนเองอย่างต่อเนื่องระยะยาว   หากพบอาการกำเริบกลับมาอีกจะได้เข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที  ซึ่งก็จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ 


การป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้า

  วิธีการป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้าคือ  การดูแลตนเองทางด้านร่างกายและทางด้านจิตใจ   ดังนี้

1.การดูแลด้านร่างกาย ได้แก่ 

-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์  ครบ 5 หมู่

-ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

-การพักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ 

2.การดูแลด้านจิตใจ  ได้แก่ 

- การผ่อนคลายจิตใจจากความเครียด  ความกดดัน  จากการทำงานและชีวิตประจำวัน

- การใส่ใจดูแลความสัมพันธ์กับคนที่เรารักอย่างสม่ำเสมอ  

-การทำกิจกรรมที่เป็นการเติมพลังให้กับจิตใจ อาจจะเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น การทำบุญ  นั่งสมาธิ เป็นต้น

- การสำรวจตัวเองอย่างมีสติ และการฝึกคิดบวกอยู่เสมอ เป็นสร้างให้จิตใจมีความเข้มแข็งซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันเรื่องจิตใจมากขึ้น 

ทั้งนี้ อาจารย์ นายแพทย์กานต์  ได้ฝากเพิ่มเติมว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เรารู้จักกันมาค่อนข้างนานแล้ว และเชื่อว่าทุกคนเห็นความสำคัญของโรคนี้ และดูแลตนเองไม่ให้เกิดโรคนี้   สิ่งที่สำคัญคือ การดูแลโรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องของส่วนบุคคลหรือเรื่องของครอบครัวเพียงครอบครัวเดียวแล้ว  ด้วยสังคมที่มีการสื่อสารกันมากขึ้น ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ   ดังนั้นการดูแลโรคซึมเศร้าจึงเป็นเรื่องของสังคมมวลรวม   เพราะฉะนั้นการดูแลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งการดูแลอันดับแรกคือ ควรลดการมองว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ไม่ดีลง  ให้รู้ว่าโรคนี้เกิดได้กับทุกคน  และเมื่อเกิดโรคซึมเศร้าแล้วสามารถมารักษาได้  หายได้  และใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพได้  ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ   และอันดับที่สองคือ   เราจะสร้างสังคมของการกลับมาร่วมกัน ดูแลกันและกันในฐานะมนุษย์ร่วมโลกได้อย่างไร ที่จะช่วยทำให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นตั้งแต่แรก   และเราจะป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าได้ตั้งแต่แรก 

“โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้นและไม่ควรมองข้าม ดังนั้นควรหมั่นสังเกตตนเอง หากพบว่าอาการที่ผิดปกติที่ทำให้สงสัยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า  อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบจิตแพทย์ เพื่อเข้าสู่การตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็ว  จะทำให้คุณจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป   ที่สำคัญคือขอให้หมั่นดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจกันนะคะ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad