“โรคมะเร็งปอด” ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2566

“โรคมะเร็งปอด” ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

มะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้น  ๆ ในผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยรวม ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก     อย่างไรก็ตามในปัจจุบันด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและพัฒนามากขึ้น  ทำให้การรักษามะเร็งปอดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น   ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  และมีชีวิตยืนยาวขึ้น 

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธัญนันท์ ใบสมุทร (เรืองเวทย์วัฒนา) สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมในการรักษาในระยะเริ่มต้นและระยะแพร่กระจาย รวมถึงการป้องกันและดูแลตนเองให้ห่างไกลจากมะเร็งปอด มาติดตามกันค่ะ

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธัญนันท์  กล่าวว่า  โรคมะเร็งปอดแบ่งกลุ่มใหญ่ ๆ 2 ชนิด คือ  

1.มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก  (small cell lung cancer)  พบในประเทศไทยประมาณ 15% มะเร็งปอดชนิดนี้มีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและการฉายแสงค่อนข้างดี   ในปัจจุบันยาเสริมภูมิต้านทานหรือยากระตุ้นภูมิต้านทาน (immunotherapy) เริ่มเข้ามามีบทบาทในการรักษามะเร็งปอดเซลล์ชนิดนี้ร่วมกับยาเคมีบำบัด 

2.มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก (non-small cell lung cancer)  พบในประเทศไทยประมาณ 85% ซึ่งมะเร็งปอดชนิดนี้ยังแบ่งย่อยเป็นชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด ได้แก่ adenocarcinoma, squamous cell carcinoma  เป็นต้น  กลุ่มที่เป็น adenocarcinoma นั้นปัจจุบันมีการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้น และมีผลการตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดีมาก    

ปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งปอด 

- บุหรี่  เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก(small cell lung cancer)    และมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก(non-small cell lung cancer)   ที่เป็นชนิด squamous cell carcinoma 

-มีการกลายพันธุ์ของยีน   พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก   ชนิด adenocarcinoma    มีลักษณะของยีนในร่างกายเกิดการกลายพันธุ์  ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลายพันธุ์ของ EGFR (Epidermal Growth Factor Receptor) ซึ่งพบในคนที่ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่มานานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป   และอาจมีปัจจัยเรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยร่วมทำให้เกิดมะเร็งชนิดนี้ได้

-ฝุ่น PM 2.5  เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีอนุภาคเล็กมาก  เมื่อสูดเข้าไปโดยตรงทำให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ เกิดขึ้น  มีการศึกษาพบว่า ฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดโรคหลายโรค  เช่น โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง รวมถึงโรคมะเร็งปอด ล่าสุดงานประชุม ESMO ที่ประเทศแถบยุโรปซึ่งเป็นการประชุมเกี่ยวกับมะเร็งทั่วโลก  มีรายงานการศึกษาหนึ่งว่า PM 2.5 อาจจะสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอดชนิดยีนกลายพันธุ์ EGFR แต่ยังต้องมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้เพิ่มเติมอย่างมาก 

อาการของมะเร็งปอด 

อาการของโรคมะเร็งปอดนั้นขึ้นอยู่กับว่าตัวเซลล์มะเร็งปอดนั้นอยู่ที่ตำแหน่งไหนในร่างกายเรา   โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการไอเรื้อรัง  บางครั้งไอแบบมีเสมหะปนเลือด, เหนื่อย,  หายใจไม่สะดวก,  เบื่ออาหาร, น้ำหนักลดมากในช่วงเวลาสั้นๆ  เป็นต้น     ผู้ป่วยบางคนอาจจะมาด้วยอาการทางระบบประสาท  ถ้าเซลล์มะเร็งปอดแพร่กระจายไปอยู่ที่สมองหรือไขสันหลัง เช่น อาการแขนขาอ่อนแรง ชา กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้  หรือบางคนมีอาการปวดกระดูกมากถ้าเซลล์มะเร็งปอดนั้นแพร่กระจายไปอยู่ที่กระดูก   หรือบางคนมีอาการปวดท้องมากถ้าเซลล์มะเร็งปอดแพร่กระจายไปอยู่ที่ตับ เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด 

เมื่อพบก้อนหรือสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอด  แพทย์จะต้องนำชิ้นเนื้อนั้นออกมาตรวจ โดยการส่องกล้องทางหลอดลมและเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจ  หรืออาจต้องใช้อัลตราซาวด์หรือ CT scan เป็นตัวนำทางในการเจาะชิ้นเนื้อออกมาตรวจ   จากนั้นแพทย์จะประเมินระยะโรคโดยการทำสแกนคอมพิวเตอร์ (CT scan)  การสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)   การสแกนด้วย PET scan  ซึ่งจะตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีใดบ้างนั้นในผู้ป่วยแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน  ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ผู้ดูแลรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย     

ระยะของโรคมะเร็งปอดกับการรักษามะเร็งปอด 

  การรักษาโรคมะเร็งปอดจะแบ่งตามระยะโรค  ดังนี้ 

-ระยะ  1 และ ระยะ 2  เรียกว่า ระยะต้น  เซลล์มะเร็งอยู่ในปอด  การรักษาหลักคือ การผ่าตัด  หลังการผ่าตัดแพทย์จะนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อประเมินว่าเป็นเซลล์ชนิดไหน มีลักษณะอย่างไร    ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งปอดบางคนอาจต้องมีการรักษาเสริม ด้วยยาเคมีบำบัด (chemotherapy) ยามุ่งเป้า (targeted therapy) ยากระตุ้นภูมิต้านทานหรือยาเสริมภูมิต้านทาน (immunotherapy) ร่วมด้วย  เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ หรือลดโอกาสการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งยาแต่ละชนิดมีข้อบ่งชี้ในการใช้ไม่เหมือนกัน  ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งปอดและระยะของโรค     

-ระยะ 3  เซลล์มะเร็งอยู่ในปอดแต่เริ่มออกมาที่บริเวณต่อมน้ำเหลืองตรงกลางทรวงอก    การรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะ 3 อาจต้องใช้การรักษาหลายอย่างร่วมกัน  ได้แก่  ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่สามารถผ่าตัดได้  เมื่อผ่าตัดแล้วต้องได้รับการรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือยาเสริมภูมิต้านทานและหรือรังสีรักษาร่วมด้วย  เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ หรือลดโอกาสการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาหลักคือ ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงรังสีรักษา และอาจจะมีการรักษาต่อด้วยยากระตุ้นภูมิต้านทานหรือยาเสริมภูมิต้านทานร่วมด้วยได้

-ระยะ 4 คือระยะแพร่กระจาย  เซลล์มะเร็งกระจายไปอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย  ซึ่งจุดประสงค์ของการรักษามะเร็งปอดในระยะ 4 คือ   

1.เพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วย  เช่น  อาการเหนื่อย อาการไอ ไอเป็นเลือด อาการปวด เป็นต้น     

2.เพื่อยืดระยะเวลาการรอดชีวิตหรืออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยให้ยืนยาวที่สุด  

3.เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย   สิ่งที่มีความสำคัญมากคือ ผู้ป่วยมะเร็งปอดจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระหว่างการรักษา 

การรักษาหลัก ๆ คือ  การรักษาด้วยยา  เช่น  ยาเคมีบำบัด  ยารักษาแบบมุ่งเป้า   ยากระตุ้นภูมิต้านทานหรือยาเสริมภูมิต้านทาน  ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งปอด  ยกตัวอย่าง  ถ้าเป็นมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก adenocarcinoma  ที่มีเรื่องของยีนกลายพันธุ์บางชนิด  จะใช้ยามุ่งเป้าในการรักษา   แต่ถ้าเป็นชนิด adenocarcinoma ที่ไม่มียีนกลายพันธุ์  การรักษาหลักจะใช้ยาเคมีบำบัดซึ่งปัจจุบันอาจจะให้ร่วมกับยากระตุ้นภูมิต้านทานหรือยาเสริมภูมิต้านทานได้ หรือในบางกรณีในผู้ป่วยบางรายอาจจะใช้ยากระตุ้นภูมิต้านทานเพียงชนิดเดียวได้  ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาตามชนิดของเซลล์มะเร็ง และตัวโรครวมถึงอาการต่าง ๆ รวมถึงสภาวะร่างกายของผู้ป่วยร่วมด้วย       ปัจจุบันยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งปอดนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด      เนื่องจากมีการพัฒนายาที่ช่วยในการรักษาอาการข้างเคียงที่เกิดจากยาเคมีบำบัดของผู้ป่วยได้ดีมาก ๆ และยาเคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็งแต่ละโรคก็ไม่เหมือนกันอีกด้วย

การคัดกรองเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปอด

การคัดกรองเพื่อป้องกันมะเร็งปอดนั้น มีการทำวิจัยออกมามากมาย   เป็นการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ (Low-dose CT chest)  ในคนที่สูบบุหรี่มากกว่า 30 ปีและมากกว่า 1 ซองต่อวัน (30 pack-year)  ซึ่งการคัดกรองด้วย Low-dose CT chest  จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดได้       แต่สำหรับคนที่ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก  adenocarcinoma  มักจะเกิดในคนไม่สูบบุหรี่   ขณะนี้ยังไม่มีการวิจัยเกี่ยวกับการคัดกรองในกลุ่มนี้      บางครั้งอาจจะมีคำแนะนำจากแพทย์บางท่านให้ไปทำเอกซเรย์ปอดปีละครั้งหรือ 2 ปีครั้ง  ซึ่งเป็นเอกซเรย์ธรรมดา  รังสีไม่มาก ราคาไม่แพง  อาจเป็นการทำที่คิดว่าคุ้มค่า  แต่ว่ายังไม่มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มนี้   ก็แล้วแต่การพิจารณาของแพทย์ที่ดูแลรักษา สิ่งที่ดีที่สุดคือหมั่นดูแลรักษาสุขภาพตนเองอยู่เสมอและสังเกตสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายของตนเองอยู่เสมอ  

สิทธิ์การรักษาโรคมะเร็งปอด

ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีสิทธิ์การรักษาโรคมะเร็งปอด ทั้งสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิ์ประกันสังคม  สิทธิ์ข้าราชการ  รวมถึงรัฐวิสาหกิจ และสิทธิ์ต้องจ่ายดูแลเองหรือประกันชีวิตส่วนตัว เป็นต้น    รัฐบาลของประเทศไทยช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งปอดเป็นอย่างมาก มีการอนุมัติการใช้ยาต่าง ๆ ให้กับคนไทยในทุกๆ สิทธิ์การรักษา   ไม่ว่าจะเป็นยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า เป็นต้น  มะเร็งปอดที่พบบ่อยในประเทศไทยคือมะเร็งปอดที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน EGFR  จากข้อมูลของโรงพยาบาลรามาธิบดี  พบได้ประมาณ 60-70%    ปัจจุบันคนไทยทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงยาต้าน EGFR  ได้แล้วในการรักษาโรคมะเร็งปอดชนิดที่มียีนกลายพันธุ์ EGFR   เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวกับการรักษาที่จะเกิดขึ้น  เพราะว่าสิทธิ์พื้นฐานของท่านทุกคนที่เป็นคนไทยสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งปอดได้

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธัญนันท์  กล่าวย้ำเพิ่มเติมว่า  อย่าไปกลัวกับคำว่ามะเร็ง “มะเร็งปอดไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด”   รวมถึงการรักษาต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยบางคนกลัวยาเคมีบำบัดมาก  ซึ่งยาเคมีบำบัดสำหรับโรคมะเร็งปอดไม่น่ากลัวอย่างที่คิดเช่นกัน       

ขอให้หมั่นดูแลสุขภาพตนเองอยู่เสมอ  สังเกตอาการตนเอง ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ไอมาก เหนื่อยมาก มีก้อนที่คลำได้ ไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ต้องรีบไปพบแพทย์อย่างรวดเร็ว  จะได้รับคำแนะนำที่ดีและถูกต้อง  ทำให้รักษาได้อย่างทันท่วงที   โอกาสในการหายจากโรค  หรืออาการดีขึ้นจากตัวโรคก็จะเร็วขึ้นและมากขึ้น 

ทั้งนี้สามารถติดตามความรู้และข้อมูลต่างๆ ของมะเร็งชนิดต่าง ๆ อย่างถูกต้อง ได้ที่เว็บไซต์ของมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย   www.thethaicancer.com   เพื่อความรู้ที่ถูกต้องและการรักษาตนเองได้อย่างถูกต้อง    


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad