ปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาทั้งภาวะสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง เป็นสิ่งที่รบกวนการมองเห็น และการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ”เด็ก” ที่จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางการเรียน และการทำกิจกรรมต่าง ๆ และหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการมองเห็นระยะยาว ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นไปตลอดชีวิตได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาวะสายตาสั้นในเด็ก” เป็นภาวะสายตาผิดปกติในเด็กที่พบมากขึ้น และที่สำคัญในช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาเด็กต้องเรียนแบบออนไลน์ ทำให้เด็กมีภาวะสายตาสั้นเร็วขึ้นและมากขึ้น เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของภาวะสายตาสั้นในเด็ก และเพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบรุนแรงต่อเด็กในระยะยาว ศ.วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์ตาธรรมศาสตร์ ได้มาให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะสายตาสั้นในเด็ก พร้อมกับแนวทางการป้องกันรักษา
ศ.วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสายตาสั้นในเด็กเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย และหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิดที่ทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้องแคบ ๆ และการเล่นโทรศัพท์มือถือหรือการเรียนผ่านออนไลน์ ทำให้พบว่ามีเด็กไทยมากกว่า 30% มีปัญหาสายตาสั้น หรือสายตาเอียง นอกจากนี้ยังมีการพยากรณ์กันว่าประมาณ 20 ปีกว่าข้างหน้า ประชากรในโลกจะมีปัญหาเรื่องสายตาผิดปกติมากกว่า 50%
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นในเด็ก
ภาวะสายตาสั้นในเด็กอาจจะเกิดได้จากปัจจัย ดังนี้
1. กรรมพันธุ์ สังเกตได้ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีปัญหาสายตาสั้น ลูกก็จะมีปัญหาสายตาสั้นด้วย ซึ่งพบว่า หากคุณพ่อหรือคุณแม่ท่านหนึ่งมีปัญหาสายตาสั้น ลูกมักมีปัญหาสายตาสั้นประมาณ 30% แต่ถ้าทั้งคุณพ่อและคุณแม่มีปัญหาสายตาสั้นทั้งคู่ พบว่าลูกมีโอกาสมีปัญหาสายตาสั้นมากถึง 60%
2. การใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก จากงานวิจัยในหลาย ๆ ประเทศ การที่เด็กใช้ชีวิตอยู่กับจอคอมพิวเตอร์ หรือการใช้ชีวิตอยู่แต่ในที่ร่มไม่ได้ออกไปมีกิจกรรมกลางแจ้ง จะเร่งให้เด็กมีภาวะสายตาสั้นมากขึ้น ดังนั้นในหลาย ๆ ประเทศจะมีนโยบายให้เด็กไปมีกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อที่จะลดภาวะสายตาสั้นที่จะเกิดขึ้นในเด็ก
ทราบได้อย่างไรว่าเด็กมีภาวะสายตาสั้น
ปัจจุบันพบเด็กที่มีภาวะสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มพบได้ตั้งแต่วัยอนุบาลหรือประถมศึกษาช่วงต้น และเด็กที่พบว่ามีสายตาสั้นตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีความเสี่ยงที่สายตาสั้นมากในอนาคต ซึ่งเด็กที่มีปัญหาสายตาสั้นหรือสายตาผิดปกติ เขาไม่สามารถบอกได้ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องช่วยกันสังเกตพฤติกรรมการมองเห็นที่ผิดปกติของเด็ก ซึ่งอาการแสดงที่บอกว่าเด็กอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา เช่น เด็กมักจะเข้าไปดูโทรทัศน์ใกล้ ๆ ตั้งใจมองอะไรจะหยีตามองหรือเอียงคอมอง เด็กเรียนหนังสือไม่ทันเพื่อน อาการเหล่านี้เป็นอาการที่ต้องพามาพบจักษุแพทย์ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที
การตรวจวินิจฉัยภาวะสายตาผิดปกติในเด็กหรือการวัดค่าสายตาสำหรับเด็ก
เมื่อพบว่าเด็กมีพฤติกรรมการมองเห็นที่ผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรรีบพามาพบจักษุแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจวินิจฉัยหรือการวัดค่าสายตาในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ควรต้องไปพบจักษุแพทย์ เนื่องจากการวัดค่าสายตาที่ถูกต้องของเด็กจะต้องมีวิธีทางวิชาการที่ถูกต้อง นั่นก็คือ ต้องมีการหยอดยาลดการเพ่งก่อนวัดสายตา เพื่อให้ได้ค่าสายตาที่ถูกต้อง เพราะถ้าวัดค่าสายตาเด็กโดยที่ไม่ได้หยอดยาลดการเพ่ง จะได้ค่าความเพ่งของสายตาเด็กที่มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า นั่นคือ จะได้ค่าสายตาสั้นจริงบวกกับค่าสายตาสั้นเทียม และถ้าหากตัดแว่นตาให้กับเด็กที่ไม่ได้หยอดยาลดการเพ่งหรือวัดค่าสายตาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ก็จะยิ่งทำให้เด็กมีภาวะสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้
การแก้ไขภาวะสายตาสั้นในเด็ก
วิธีการแก้ไขสายตาสั้นในเด็กที่นิยมใช้กันคือ
-การใช้แว่นตา เมื่อพบว่าเด็กมีภาวะสายตาสั้นจะต้องได้รับการตัดแว่นตาที่เหมาะสม เพราะจะทำให้เด็กกลับมามองชัดได้ ซึ่งการที่เด็กมองชัดมีคุณค่าและมีประโยชน์มากกว่าในผู้ใหญ่ที่ใส่แว่นตามาก เพราะนอกจากทำให้การมองเห็นของเด็กดีขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้พัฒนาการการเรียนรู้ของเขาดีขึ้นด้วย ส่งผลทำให้เด็กมีความมั่นใจในการใช้ชีวิต สามารถทำกิจกรรมการเล่นและกิจกรรมการเรียนได้ดีขึ้น
-การทำเลสิก (LASIK) เหมาะสำหรับเด็กอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีค่าสายตาเริ่มนิ่ง ซึ่งการทำเลสิก (LASIK) จะทำให้ภาวะสายตาผิดปกติกลับมาเป็นภาวะสายตาปกติได้
ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะสามารถช่วยชะลอภาวะสายตาสั้นในเด็กไม่ให้มากจนเกินไป ซึ่งมี 2 วิธีหลัก คือ
1.การใช้ยาชะลอสายตาสั้น ยาชนิดนี้จะมีผลในการลดการเพ่งของตาเด็ก ซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะสายตาสั้นคือ ยา atropine โดยนำยามาผสมกับน้ำเกลือหรือน้ำตาเทียม และให้เด็กหยอดวันละครั้งก่อนนอน สามารถใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 5 -18 ปี ทั้งนี้จักษุแพทย์จะมีการนัดมาตรวจประเมินการรักษาเป็นระยะทุก 3-6 เดือน ยานี้จะสามารถช่วยชะลอภาวะสายตาสั้นในเด็กไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีงานวิจัยในหลายประเทศที่ทำมาเป็น 10 ปี พบว่าค่อนข้างปลอดภัย และมีผลข้างเคียงน้อยมาก ปัจจุบันในประเทศไทยมีการรักษาในหลายโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลใหญ่
2.การใช้เลนส์แว่นตาชะลอสายตาสั้น เป็นเลนส์แว่นตาชนิดพิเศษที่แตกต่างจากเลนส์แว่นตาสายตาสั้นทั่วไป เนื่องจากเลนส์แว่นตาสายตาสั้นทั่วไปเป็นเพียงเลนส์แว่นตาที่ทำให้เด็กมองเห็นชัดขึ้นเท่านั้น แต่เลนส์แว่นตาชะลอสายสั้นจะมีโครงสร้างพิเศษที่ทำให้เด็กมองเห็นชัดขึ้น และยังช่วยชะลอภาวะสายตาสั้นได้ นอกจากนี้ตัวเลนส์แว่นตามีสารเคลือบพิเศษที่ช่วยในเรื่องของกันแสงสะท้อนกันแสงยูวี ซึ่งมีความปลอดภัยสำหรับเด็ก เลนส์แว่นตาชะลอสายตาสั้นนี้เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6-18 ปี เลนส์แว่นตานี้ได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทย ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แล้ว มีผลงานวิจัยจากต่างประเทศพบว่า เลนส์แว่นตาชนิดพิเศษจะช่วยชะลอภาวะสายตาสั้นในเด็กได้ถึง 60%
ทั้งเทคโนโลยีการใช้ยาหยอดตาและการใช้เลนส์แว่นตาชนิดพิเศษ นับว่าเป็นความหวังที่จะช่วยป้องกันปัญหาภาวะสายตาสั้นของเด็กซึ่งเราพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันทั้งเด็กไทย เด็กเอเชีย และเด็กทั่วโลก
วิธีการดูแลภาวะสายตาผิดปกติในเด็ก
โดยทั่วไปภาวะสายตาผิดปกติในเด็กหรือภาวะสายตาสั้นในเด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงค่าสายตาไปเรื่อย ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงการเติบโตของลูกตาของเขา สำหรับวิธีการดูแลภาวะสายตาผิดปกติในเด็ก ได้แก่
-คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องช่วยสังเกตพฤติกรรacมการมองเห็นที่ผิดปกติของเด็กที่อาจจะแสดงว่าเด็กมีภาวะสายตาผิดปกติ หรือมองเห็นภาพไม่ชัด เช่น เด็กชอบเข้าไปดูโทรทัศน์ใกล้ๆ หรือเด็กชอบหยีตามอง หรือเอียงคอมอง หรือเด็กเรียนหนังสือไม่ทันเพื่อน เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องพาเด็กไปพบจักษุแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
-เด็กที่มีภาวะสายตาสั้น หรือสายตาเอียง สายตายาวมาก ๆ การที่เขาไม่ได้รับการดูแลแก้ไขตั้งแต่ต้นในช่วง 12-15 ปีแรก อาจทำให้ประสาทสมองในส่วนที่เกี่ยวกับการมองเห็นของเขาขาดพัฒนาการอย่างเหมาะสม จะทำให้เด็กเกิดภาวะพิการด้านสายตาอย่างถาวร หรือเกิดภาวะที่เรียกว่า ตาขี้เกียจ แม้ว่าเราจะไปแก้ไขให้เขาหลังจากอายุ 12-15 ปีไปแล้ว ก็มักไม่สามารถทำให้เด็กคนนั้นกลับมามองเห็นได้
-ค่าสายตาของเด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเติบโตของลูกตา ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วกว่าในผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรจะต้องพาเด็กที่มีปัญหาสายตาไปตรวจกับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง
-คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างเหมาะสม ให้เด็กได้มีกิจวัตรประจำวันที่เหมาะสม ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า การที่เราให้เด็กได้มีกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น โดยอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง รวมถึงกรณีที่เด็กมีความจำเป็นที่จะต้องใช้โทรศัพท์มือถือหรือใช้แท็ปเลต ควรให้เด็กมีการหยุดพักสายตาเป็นระยะ เช่น ทุก 20 นาที ควรให้เด็กหยุดพักจากกิจกรรมบนจอโทรศัพท์มือถือหรือแท็ปเลตอย่างน้อย 1 นาที เป็นต้น ก็จะช่วยชะลอภาวะสายตาผิดปกติในเด็กได้
ทั้งนี้ ศ.วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะสายตาสั้นในเด็กเป็นภาวะที่อาจจะช่วยป้องกันได้ อย่างน้อยที่สุดคือ ผู้ปกครองต้องมีการแนะนำการใช้สายตาอย่างเหมาะสมกับเด็ก มีการกำหนดระยะเวลาในการใช้สายตา และพยายามกระตุ้นให้เด็กได้มีกิจกรรมกลางแจ้ง นอกจากนี้สายตาสั้นในเด็กอาจจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ แม้ว่าอาจจะทำให้มองเห็นไม่ชัดเหมือนกับในผู้ใหญ่ แต่การแก้ไขให้เด็กกลับมามองเห็นชัดนั้น นอกจากช่วยให้เด็กมองเห็นทุกอย่างชัดขึ้น ยังช่วยทำให้เขามีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ และมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และที่สำคัญเนื่องจากเด็กยังมีการพัฒนาของระบบประสาทยังไม่เต็มที่เหมือนผู้ใหญ่ การที่เราปล่อยให้เด็กมีภาวะสายตาผิดปกติแล้วไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้สมองส่วนเกี่ยวกับการมองเห็นมีการพัฒนาการน้อย ทำให้เกิดการสูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างถาวร ที่เรียกว่าภาวะตาขี้เกียจซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาวกับเด็กได้
ภาวะสายตาสั้นในเด็กมีความสำคัญมาก คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องคอยหมั่นสังเกตว่าเด็กมีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นหรือเปล่า หากพบว่าเด็กมีภาวะสายตาผิดปกติ ควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อแก้ไขเร็วที่สุด ก่อนที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น