โรคเครียดในวัยทำงาน อันตรายมากกว่าที่คิด - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2566

โรคเครียดในวัยทำงาน อันตรายมากกว่าที่คิด

คุณเคยนอนไม่หลับเพราะคิดมากหรือกังวลใจหรือไม่  หรือเคยรู้สึกเหนื่อยหน่ายจนไม่อยากที่จะทำอะไรบ้างไหม   รู้ไหมว่าอาการเหล่านี้แสดงว่าคุณกำลังเริ่มเข้าสู่การเกิด  “โรคเครียด” นั่นเอง    ซึ่งโรคเครียดนั้นเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย  หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่บำบัดรักษา  อาจส่งผลร้ายต่อชีวิตได้ในอนาคต   โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดขึ้นในวัยทำงาน


เนื่องจากวัยทำงานต้องรับผิดชอบหลายอย่างด้วยกัน จึงทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย   โรคเครียดในวัยทำงานมีความสำคัญอย่างไรนั้น    ผศ. นพ.คมสันต์  เกียรติรุ่งฤทธิ์  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคพร้อมกับแนวทางการดูแลรักษา 

ผศ. นพ.คมสันต์  เกียรติรุ่งฤทธิ์ กล่าวว่าโรคเครียดหรือภาวะที่มีปัญหาการปรับตัว  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม   เช่น  ทำให้มีอารมณ์เบื่อ เศร้า หรือรู้สึกวิตกกังวลมากขึ้น หงุดหงิด โวยวาย สมาธิความจำแย่ลง มีอาการทางกายเช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน  ซึ่งอาการดังกล่าวส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันรวมไปถึงการทำงาน  ทำให้การทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนที่เคยทำ    และส่งผลต่อความสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น ทำให้เกิดปัญหากับเพื่อนร่วมงาน รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว     หรือจนกระทั่งนำไปสู่ การทำร้ายตนเอง  หรือฆ่าตัวตายได้

สาเหตุของการเกิดโรคเครียดในวัยทำงาน

โรคเครียดในวัยทำงานนั้นปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคเครียดนั้นมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน  ได้แก่   

-ภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ต้องรับผิดชอบหน้าที่การงานเพิ่มขึ้น    การมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน   การได้รับรายได้ที่ลดลง    การถูกให้ออกจากงาน   

-ปัญหาในครอบครัว  เช่น ปัญหาที่เกิดจากความรับผิดชอบต่อครอบครัว   ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส  ปัญหาการเลี้ยงดูบุตร   ปัญหาการดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในวัยสูงอายุ เป็นต้น 

-ปัญหาด้านสุขภาพตนเอง   การขาดความสมดุลในชีวิตการทำงาน-ชีวิตส่วนตัว เป็นต้น 

สัญญาณเตือนโรคเครียด

ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองอาจมีปัญหาเรื่องเครียด   อาการเตือนของโรคเครียด ได้แก่ 

-รู้สึกเศร้า เบื่อ อยู่บ่อย ๆ  หรือรู้สึกวิตกกังวล 

-มีสมาธิ หรือความจำแย่ลง  

-มีความสนใจในการทำงานอดิเรกหรือทำกิจกรรมที่ตนเองชอบน้อยลง 

-มีปัญหาเรื่องของการนอน เช่น นอนไม่หลับ  นอนหลับๆ ตื่น ๆ

-ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน

-เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง  

ผู้ป่วยโรคเครียดควรมาพบแพทย์เมื่อใด

ผู้ที่มีภาวะเครียดหรือเริ่มสงสัยว่าตัวเองน่าจะเริ่มเครียดแล้ว     สิ่งแรกคือ  การจัดการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ต้องรู้ว่าปัญหาที่ทำให้เครียดนั้นคืออะไร  เราสามารถจัดการปัญหาได้หรือไม่หรือขอความช่วยเหลือจากใครได้  ปัญหาไหนควรจัดการแก้ไขก่อน และปัญหาไหนควรจัดการแก้ไขทีหลัง     ปัญหาไหนควรปล่อยวาง  ไม่ควรเครียดหรือไม่ควรให้ความสำคัญ    

สำหรับปัญหาที่เกิดจากภาระงานมาก  ต้องจัดลำดับความสำคัญของงานต่าง ๆ    รวมทั้งแบ่งเวลาอย่างเหมาะสม   สร้างสมดุลในชีวิตตนเองทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัว     รวมถึงการให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลตนเองเรื่องการทานอาหาร การนอน และการพักผ่อน    ทำงานอดิเรกที่ตัวเราชอบ   หากพยายามแก้ไขแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือแก้ไขปัญหาไม่ได้   ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป    เนื่องจากปัญหาความเครียดหากปล่อยไว้เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน  อาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าหรือความวิตกกังวลในอนาคต และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ในที่สุด 

 การวินิจฉัยโรคเครียด

เมื่อมาพบจิตแพทย์หรือแพทย์ผู้ประเมิน แพทย์จะสอบถามประวัติส่วนตัว รวมทั้งประวัติของสาเหตุที่ทำให้เครียด และประเมินว่าภาวะเครียดนั้นเข้าได้กับโรคทางจิตเวชหรือปัญหาทางจิตเวชอย่างอื่นหรือไม่  เพื่อหาสาเหตุและหาแนวทางในการรักษาต่อไป

การรักษาโรคเครียด

เมื่อแพทย์ให้การประเมินว่าผู้ป่วยเป็นโรคเครียด  จะให้การรักษาดังนี้

-การให้คำปรึกษา  เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจกับสาเหตุของความเครียดและผลกระทบที่เกิดขึ้น    ชี้แนะอย่างถูกวิธีเพื่อคลายเครียด   เพื่อให้เขามีกำลังใจรับมือกับความเครียด   

- ในกรณีความเครียดส่งผลทางกาย เช่น นอนไม่หลับ ปวดท้อง หรือปวดศีรษะ จิตแพทย์อาจให้รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ   ซึ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยมีสมาธิและความจำดีขึ้น  กลับไปทำงานและใช้ชีวิตได้ดีขึ้น  การรักษาที่จำเป็นต้องใช้ยานั้น  จะเป็นเพียงแค่ระยะเวลาสั้นเท่านั้น  เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจะค่อย ๆ ลดยาลง  และติดตามการรักษาต่อไป

-การทำจิตบำบัด    ซึ่งต้องได้รับการบำบัดโดยจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา โดยวิธีการทำจิตบำบัดที่เหมาะสมจะขึ้นกับการประเมินปัญหาที่มาปรึกษา และการวินิจฉัย

การป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคเครียด  

สำหรับการป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคเครียดนั้น สิ่งสำคัญ ได้แก่

-การตระหนักรู้ตนเอง  หากรู้ว่าตัวเองเริ่มมีอาการเครียด หาทางในการที่จะแก้ไขหรือจัดการปัญหาความเครียดด้วยตนเองก่อน   หากแก้ไขไม่ได้ควรปรึกษาคนข้างเคียง เช่น  คู่สามีภรรยา คุณพ่อคุณแม่ เพื่อน  เป็นต้น ซึ่งคนรอบข้างหลายคนช่วยกันอาจมีหลายความคิดที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า

-ดูแลสุขภาพทั้งกายและใจตัวเอง เช่น การออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ  และมีงานอดิเรกที่ช่วยลดความเครียดหรือปัญหาต่าง ๆ

ผศ. นพ.คมสันต์  เกียรติรุ่งฤทธิ์ ฝากเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่เป็นโรคเครียดในวัยทำงานอันเนื่องมาจากหลากหลายปัญหา  ทั้งเรื่องการทำงานและเรื่องครอบครัว  ที่สำคัญอันดับหนึ่งคงเป็นเรื่องของการแบ่งเวลางานและเวลาให้กับครอบครัวอย่างเหมาะสม  ทำให้เกิดความสมดุลในชีวิตของตัวเอง  ซึ่งแต่ละคนอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหรือเท่ากันก็ได้  ขอเพียงว่าให้ดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข     ซึ่งบางคนหากไม่สามารถจัดการกับโรคเครียดได้ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันทั้งของตนเองและผู้อื่น   การมาพบจิตแพทย์เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ผ่านพ้นวัยทำงานต่อไปได้ 

 โรคเครียดสามารถแก้ไขและรักษาได้    ลองสังเกตตัวเราเองว่ากำลังมีปัญหาความเครียดอยู่หรือไม่   หากจัดการแก้ไขด้วยตัวเองก่อนแล้วไม่สามารถแก้ไขได้อาจแนะนำให้พบจิตแพทย์ เพื่อรับการปรึกษาและรักษาอย่างถูกวิธี   อย่าให้โรคเครียดมาทำลายสุขภาพนะคะ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad