รู้จักกับ “โรคหลอดเลือดสมอง” ภัยเงียบใกล้ตัว - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2566

รู้จักกับ “โรคหลอดเลือดสมอง” ภัยเงียบใกล้ตัว


โรคหลอดเลือดสมอง
เป็นโรคที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  พบมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลก    สำหรับประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นสาเหตุของความพิการและการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งทั้งเพศชายและเพศหญิง  และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัย 

เพื่อให้ตระหนักรู้เท่าทันโรคหลอดเลือดสมอง   รศ.(พิเศษ) พญ.อรอุมา ชุติเนตร  สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง  พร้อมกับแนวทางในการป้องกันและรักษา

 รศ.(พิเศษ) พญ.อรอุมา กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง  แบ่งเป็น  2 ประเภท คือ    1.โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือโรคสมองขาดเลือด  โดยพบประมาณ 70-80%   และ 2.โรคหลอดเลือดสมองแตก หรือโรคเลือดออกในสมอง โดยพบประมาณ 20-30%

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 

1.ปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้ เช่น   

- ความดันโลหิตสูง

-ไขมันในเลือดสูง

-เบาหวาน

-การสูบบุหรี่

-การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

- ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

- ภาวะน้ำหนักเกิน หรืออ้วน

-ขาดการออกกำลังกาย 

2.ปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น

        - อายุ    อายุมากขึ้นมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากขึ้น   แต่ทั้งนี้โรคหลอดเลือดสมองสามารถเกิดได้กับทุกช่วงอายุ  ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก  วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ จนถึงวัยผู้สูงอายุ  

    - มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน   มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากขึ้น

โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นได้กับทุกวัย

คนที่อายุน้อยมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นเดียวกัน  ซึ่งอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ได้เหมือนกับผู้สูงอายุทีเดียว   เช่น  คนอายุน้อยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือโรคสมองขาดเลือดอาจเกิดจากภาวะการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ  ทำให้เลือดแข็งตัวง่ายขึ้น   หรือมีการปริของผนังหลอดเลือดทำให้เกิดโรคสมองขาดเลือดได้มากขึ้น เช่น มีการกระทบกระเทือนบริเวณคอ ทำให้เกิดการปริของผนังหลอดเลือดบริเวณคอ      นอกจากนี้อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาบางชนิด เช่น สารเสพติดบางอย่าง  ก็มีโอกาสทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองทั้งโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดสมองแตกได้เช่นกัน

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

อาการหลัก ๆ ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่

-มุมปากตก หน้าเบี้ยว 

-แขน/ขาอ่อนแรง ครึ่งซีก

-ชาครึ่งซีก

-การพูดผิดปกติ เช่น  ลิ้นแข็ง พูดลำบาก พูดไม่ชัด ไม่เข้าใจภาษา

-ตามองเห็นผิดปกติ เช่น   มองเห็นภาพซ้อน  หรือมองไม่เห็นภาพครึ่งซีก

-เวียนศีรษะร่วมกับเดินเซ

-ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

-หมดสติ 

โดยอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือทันทีทันใด อาจเกิดเพียงอาการเดียว หรือหลายอาการร่วมกันก็ได้ ซึ่งจำง่ายๆเป็นคำย่อ คือ  F A S T    F  คือ Face  หน้าเบี้ยว มุมปาก 2 ข้างไม่เท่ากัน  A  คือ Arm  หมายถึง อาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก  S คือ Speech คือพูดไม่ชัด พูดผิดปกติ ไม่เข้าใจภาษา   T  คือ Time   หากมีอาการรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด  เพื่อให้รอดจากการพิการ หรือรอดจากการเสียชีวิต และจำเวลาที่เกิดอาการไว้ด้วย หรือจำเป็นภาษาไทยว่า “พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น”   ถ้ามีอาการอย่างรวดเร็วหรือทันทีทันใด ให้สงสัยโรคหลอดเลือดสมอง

การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง 

เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ แพทย์จะถามประวัติรวมทั้งตรวจร่างกายอย่างรวดเร็ว และส่งตรวจทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือ CT Scan สมอง  เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่   นอกจากนี้อาจมีการตรวจด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก หรือ MRI ร่วมด้วยแต่ทั้งนี้การตรวจที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่สามารถทำได้เร็วที่สุด และใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยคือ  การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง 

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง  และเป็นโรคสมองขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ  การรักษา Golden Period คือไม่เกิน 4 ชั่วโมงครึ่ง  ซึ่งผู้ป่วยมีโอกาสที่จะได้รับการรักษาดังนี้  

-การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ หรือ Thrombolytic drugs  เป็นยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำเพียงครั้งเดียว   การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกคน   ผู้ป่วยที่สามารถรับการรักษาด้วยวิธีนี้ ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดในการรักษาซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา

-การใส่อุปกรณ์ผ่านหลอดเลือดเพื่อไปนำลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมองออกมา หรือ Mechanical thrombectomy    ในผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดใหญ่ในสมอง      ซึ่งการรักษาวิธีนี้ไม่สามารถรักษาได้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกคน  ผู้ป่วยที่สามารถรับการรักษาด้วยวิธีนี้ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดเช่นเดียวกัน

ที่สำคัญก็คือ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด จะทำให้มีโอกาสของการรักษามากขึ้น    ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย  เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์มากที่สุด และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อยที่สุด  

การติดตามการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเป็นการรักษาอย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต   ซึ่งการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองด้วย เช่น  ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบส่วนใหญ่จะได้รับยาต้านเกล็ดเลือด  เช่น แอสไพริน   แต่ผู้ป่วยบางคนที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด atrial fibrillation  ควรได้รับยาป้องกันเลือดแข็งตัว  เช่น ยาวาร์ฟาริน  หรือยาชนิดอื่น ๆ เป็นต้น    นอกจากนั้นก็จะเป็นการรักษาปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งมีความสำคัญมาก  เช่น ยาลดความดัน ยาลดไขมันในเลือด  หรือยาลดน้ำตาลเพื่อควบคุมเบาหวาน  เป็นต้น ซึ่งเป็นการป้องกันไปข้างหน้าเพื่อไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำอีกและต้องรับประทานยาตลอดชีวิต   

การป้องกันตนเองจากโรคหลอดเลือดสมอง

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ 

-การตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง 

-ควบคุมระดับความดันโลหิต  ไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

-ควบคุมโภชนาการให้สมดุล หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม และรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

-งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

-หากมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง  ควรควบคุมปัจจัยเสี่ยงโดยควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย  รับประทานยา และพบแพทย์สม่ำเสมอ 

  รศ.(พิเศษ) พญ.อรอุมา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหลอดเลือดสมองเกิดได้กับทุกคน  เกิดได้กับทุกช่วงอายุ ทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยผู้สูงอายุ  ที่สำคัญก็คือ ให้ทราบว่าอะไรคืออาการของโรคหลอดเลือดสมอง  ให้จำคำว่า  FAST หรือ พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น  ถ้ามีอาการอย่างรวดเร็วหรือทันทีทันใด ให้สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองไว้ก่อน อย่ารอ และให้รีบไปโรงพยาบาลทันที หรือจะโทร.ไปที่ 1669 ก็ได้   ไปโรงพยาบาลให้รวดเร็วที่สุด  เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม  เพื่อรอดชีวิตและรอดจากความพิการ กลับมาปกติมากที่สุด  รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำด้วย “โรคหลอดเลือดสมอง รู้ เร็ว รอด”

โรคหลอดเลือดสมองส่งผลกระทบกับร่างกายและการใช้ชีวิต  นอกจากการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง  การใส่ใจตรวจเช็คสุขภาพ และหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ   ดังนั้นหากพบความผิดปกติ หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง  ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที... เพื่อคุณภาพชีวิตของตัวเอง


  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad