‘สถาปัตยกรรม’ กับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กพิเศษ เนรมิตสิ่งแวดล้อมใหม่ ด้วยหลักวิจัย และผลการเปลี่ยนแปลงจากห้องทดลองทางวิชาการ - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566

‘สถาปัตยกรรม’ กับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กพิเศษ เนรมิตสิ่งแวดล้อมใหม่ ด้วยหลักวิจัย และผลการเปลี่ยนแปลงจากห้องทดลองทางวิชาการ


“เด็กพิเศษ” หนึ่งในกลุ่มเปราะบางของสังคม ที่มีความต้องการพิเศษ จากสภาพความพิการ บกพร่อง หรือความแตกต่างทางร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ ที่จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยดีกับกลุ่มของ “เด็กออทิสติก” (Autism) ที่มีความผิดปกติของโครงสร้างหรือสารเคมีบางอย่างในสมอง ทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษาและสังคม กับอีกกลุ่มคือ “เด็กดาวน์ซินโดรม” (Down syndrome) ที่มีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ส่งผลให้มีใบหน้าเป็นลักษณะเฉพาะ และมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กปกติ


แน่นอนว่าเรื่องของการดูแลและให้การศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้ จำเป็นจะต้องอาศัยความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญของตัวครู อาจารย์ หรือผู้ดูแล ที่จะต้องมีความเข้าใจและสามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทย ได้มีการจัดระบบการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการเรียนการสอนที่เฉพาะเจาะจง เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษ โรงเรียนเด็กพิเศษ ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ภาคเอกชน โรงพยาบาลหรือมูลนิธิต่างๆ รวมไปถึงในลักษณะที่เรียนรวมกันกับเด็กปกติ หากแต่องค์ประกอบนี้ อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กพิเศษ เพราะยังมีส่วนที่เป็น “สภาพแวดล้อม” ซึ่งจะเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของการช่วยทำหน้าที่นี้


ทีมวิจัยของ รศ.ดร.นวลวรรณ ทวยเจริญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยเครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงเดินหน้าทำการศึกษาและทบทวนวรรณกรรมในเบื้องต้น ภายใต้โครงการวิจัย การพัฒนาสภาพแวดล้อมศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษและโรงเรียนเด็กพิเศษที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาการ: เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และเด็กออทิสติก เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และโควิด-19 ซึ่งพบว่ารูปแบบ “สถาปัตยกรรม” มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและออทิสติกได้จริง


ตัวอย่างกรณีศึกษาการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กออทิสติก ของวิทยาลัยสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้สร้างประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสสำหรับเด็กออทิสติกสเปกตรัม (ASD) โดยสร้างโครงสร้างพื้นผิวที่นุ่มและยืดหยุ่นสำหรับการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก หรือกรณีของสถาปนิกชาวออสเตรเลีย ได้ออกแบบโรงเรียนให้มีพื้นที่การเรียนรู้กลางแจ้งรอบๆ ลานสนาม ที่เชื่อมต่อกัน รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่รับแสงแดดได้โดยตรง


ขณะที่การศึกษาการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กดาวน์ซินโดรม ซึ่งการออกแบบโดยใช้โทนสีต่างๆ มีผลต่อการกระตุ้นพัฒนาการและการเรียนรู้ เช่น โครงการ “DOWN SYNDROME OF LOUISVILLE” ที่รัฐเครตักกกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการเลือกใช้บานเกล็ดภายในและพื้นที่สีเขียวทั้งหมด นอกจากนี้มีการเลือกการใช้สีโทนสดใสภายในอาคารเพื่อช่วยสร้างความสนุกสนานและประสบการณ์การเรียนรู้


อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของงานศึกษาวิจัยต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ และพบว่าในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาประเด็นนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ทางเครือข่ายนักวิจัย สวรส.  จึงเดินหน้าพิสูจน์โดยการทดสอบในสถานที่จริง ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่รับผิดชอบในการดูแลเด็กพิเศษกว่า 500 คน ใน 16 อำเภอของจังหวัดอยุธยา

รศ.ดร.นวลวรรณ เล่าว่า ภายหลังการศึกษาและปรับปรุงห้องเรียนต้นแบบ พร้อมวัดผลก่อน-หลัง พบว่าพัฒนาการของเด็กทั้ง 2 กลุ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และสภาพแวดล้อมที่ออกแบบใหม่นี้ยังมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ได้อีกด้วย


“หลักๆ เราใช้วิธีกระตุ้นเด็กด้วยสีสันต่างๆ ที่ใช้ภายในห้อง การจัดวางโต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการใช้แสงสว่าง อย่างเช่น เด็กออทิสติกที่มักจะวอกแวก อยู่ไม่นิ่ง หรืออารมณ์รุนแรง ห้องที่เป็นลักษณะโทนเย็น ก็จะช่วยให้เกิดความสงบมากขึ้น ขณะที่เด็กดาวน์ซินโดรมที่มักอยู่นิ่ง ห้องในลักษณะโทนร้อน ก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ มีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น” นักวิจัยอธิบาย


สำหรับผลการศึกษาที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการวิจัยฯ รศ.ดร.นวลวรรณ หวังว่าจะเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษ และโรงเรียนเด็กพิเศษแห่งอื่นๆ ที่เหมาะสมต่อไป


นางอำไพพิศ บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการดูแลเด็กพิเศษอาจมุ่งเน้นไปในส่วนของการศึกษา การพัฒนาบุคลากร และอาจลืมมองไปถึงรายละเอียดบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสี รูปทรง หรือการใช้แสงสว่าง จนเมื่อมีโครงการวิจัยฯ เข้ามา จึงทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกับพัฒนาการของเด็ก

“พอเราเห็นความเปลี่ยนแปลงของห้องเรียนก็ตื่นเต้นแทนเด็ก ด้วยสีสันที่เห็นได้ว่าช่วยจูงใจให้เด็กอยากเข้าห้องเรียน อย่างเด็กดาวน์ซินโดรมจะแสดงออกมาชัดเจนว่าตื่นเต้นกับห้องเรียนใหม่ เข้ามาลูบสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ขณะเดียวกันเราก็ได้ห้องเรียนที่เป็นระเบียบ โปร่งสบาย เหมาะกับการเรียนมากขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น หรือในส่วนของสวน จากเดิมที่เป็นเพียงสนามเด็กเล่น พอมีเรื่องของสี มีความแตกต่างของผิวสัมผัสเข้ามา ก็ช่วยให้เด็กเล่นแบบมีเป้าหมาย ได้ประโยชน์จากการเล่นมากขึ้น” นางอำไพพิศ ระบุ

ผอ.ศูนย์ศึกษาพิเศษฯ ระบุด้วยว่า หลังจากเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ทางศูนย์ฯ จึงมีความตั้งใจที่จะนำไปพัฒนาห้องเรียนอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กแต่ละกลุ่มต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ในส่วนของผู้ปกครองบางรายเอง ก็พบว่ามีความตั้งใจที่จะกลับไปปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในบ้านด้วยเช่นเดียวกัน หลังเห็นว่าลูกของตนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น


ขณะที่ ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กพิเศษหรือคนทั่วไป เป็นที่ทราบกันดีว่า สี นั้นมีผลต่อสภาพจิตใจของเราพอสมควร และงานวิจัยชิ้นนี้ก็ทำให้เราตระหนักได้ว่าสภาพแวดล้อมช่วยส่งผลต่อการเรียนรู้ และความปลอดภัยของเด็กพิเศษได้อย่างมาก อย่างไรก็ตามทาง สวรส. ยังอยากให้เกิดการช่วยกันคิดต่อ และมองอย่างเป็นเชิงระบบ ว่าเราจะขยายห้องเรียนเหล่านี้ไปสู่ที่อื่นๆ มากขึ้นได้อย่างไร

“อย่างที่นี่เป็นศูนย์ฯ หลักประจำจังหวัด และยังมีศูนย์ย่อยอยู่ในทุกอำเภอ จะมีการปรับแนวคิดเหล่านี้ไปสู่แห่งอื่นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน หรือในแง่ของการดูแลคนพิการด้านอื่นๆ จะสามารถปรับสภาพแวดล้อมการดูแลได้ด้วยหรือไม่อย่างไร ดังนั้นเราคงไม่หยุดแค่นี้ แต่ยังมีโจทย์ที่จะขยายผลต่อไปได้อีกมาก” ทพ.จเร กล่าว

ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของ สวรส. คือการให้ทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยในเชิงการแพทย์และสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น ความพยายามหาคำตอบว่าช่องว่างอยู่จุดใด จำเป็นต้องไปปรับแก้นโยบายหรือกฎหมายอะไรบ้าง และอีกส่วนสำคัญคือการดำเนินการนำร่องเพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง ที่จะสามารถนำไปสู่การขยายผลต่อไปได้มากขึ้น


“เมื่อมีการขยายผลมากขึ้น เราก็สามารถเรียนรู้ผ่านงานวิจัยได้มากขึ้น เช่นการเปรียบเทียบห้องเรียนที่ปรับกับที่ไม่ได้ปรับ หรือดูว่าผ่านไปในแต่ละปี พัฒนาการเด็กเป็นอย่างไร ดังนั้นระยะยาวจึงอาจเป็นในแง่ของการติดตาม และการถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัยต่างๆ ไปสู่ที่อื่นๆ เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ต่อไป โดยงานวิจัยรวมทั้งความรู้ใหม่ๆ 


จะช่วยกระตุ้นให้สังคมรับรู้และเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาการของเด็กพิเศษ และป้องกันโควิด-19 อย่างเป็นระบบและมีหลักวิชาการรองรับไปพร้อมกัน” นพ.นพพร ทิ้งท้าย

....................................

ข้อมูลจาก : โครงการวิจัย การพัฒนาสภาพแวดล้อมศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษและโรงเรียนเด็กพิเศษที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาการ: เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และเด็กออทิสติก เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และโควิด-19, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad