หากคุณมีอาการ ไอ หอบเหนื่อยและแน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด นั่นแสดงว่าคุณอาจเป็นโรคหืดได้...
โรคหืด จัดเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยในประเทศไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องมาจากมลภาวะทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น เป็นโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต หากควบคุมอาการโรคหืดไม่ได้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาล รวมถึงอาจทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้
นายแพทย์ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาให้รายละเอียดเกี่ยวกับโรคหืดพร้อมกับแนวทางการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหืดขั้นรุนแรง
โรคหืด เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ที่มีผลทำให้หลอดลมของผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการไอแน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีดหรือหอบเหนื่อยเกิดขึ้น เมื่อได้รับสารก่อโรคหรือสิ่งกระตุ้น อาการเหล่านี้อาจหายไปได้เอง หรือหายเมื่อได้รับยาขยายหลอดลม และอาการอาจจะกำเริบรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โรคหืดพบได้ในทุกช่วงอายุ พบได้ตั้งแต่วัยเด็ก อายุ 2-3 ปี ซึ่งอาการจะดีขึ้นในช่วงวัยรุ่น และอาการอาจจะแย่ลงในช่วงอายุมากขึ้นคืออายุ 40-50 ปี นอกจากนี้โรคหืดอาจจะพบได้ในผู้สูงอายุคืออายุ 50-70 ปี
อาการและความรุนแรงของโรค
ผู้ป่วยโรคหืดจะมีอาการหายใจเสียงหวีด หอบเหนื่อย ไอและแน่นหน้าอก หายใจลำบาก มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ อาการจะแย่ลงในช่วงกลางคืนหรือเช้ามืด ซึ่งอาการของโรคมีตั้งแต่ไม่รุนแรงมากไปจนถึงรุนแรงมาก และหากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการทุกวัน ในที่สุดเมื่อมีอาการรุนแรงมากผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหืด ได้แก่ การสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่นละออง ฝุ่น PM 2.5 ควันบุหรี่ การติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจส่วนบน พันธุกรรม เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคหืด
แพทย์จะวินิจฉัยโรคหืดโดยอาศัยอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก นอกจากนี้แพทย์อาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย เช่น การตรวจสมรรถภาพปอด เรียกว่า สไปโรเมตรีย์ (Spirometry) เพื่อยืนยันความผิดปกติของสมรรถภาพปอด และตรวจการอุดกั้นของหลอดลมก่อนและหลังการให้ยาขยายหลอดลมเพื่อประเมินโรคหืด เป็นต้น ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถตรวจสมรรถภาพปอดสไปโรเมตรีย์ (Spirometry) ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาขยายหลอดลมชนิดพ่นร่วมกับยาพ่นสเตียรอยด์ เพื่อวินิจฉัยและติดตามตามอาการ ถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหลังจากการติดตามแล้ว อาจวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคหืด
การรักษาโรคหืด
การรักษาโรคหืดโดยหลักจะใช้การรักษาด้วยยา ซึ่งยารักษาโรคหืดที่สำคัญแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.ยาบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาสูดพ่นขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็ว ซึ่งอาจมีส่วนผสมของยาสูดพ่นสเตียรอยด์ ใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการ ยานี้สามารถออกฤทธิ์บรรเทาอาการหลอดลมตีบได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องพกยานี้ติดตัวตลอดเวลา
2.ยาควบคุมอาการ ได้แก่ ยาสูดพ่นสเตียรอยด์อาจร่วมกับยาสูดพ่นขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว ซึ่งต้องใช้เป็นประจำทุกวันแม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการ จนกว่าแพทย์จะแนะนำให้หยุดการใช้ยา
นอกจากนี้ยาบรรเทาอาการและยาควบคุมอาการ ยังมียาชนิดรับประทานด้วย แต่ส่วนใหญ่มักจะใช้ยาชนิดพ่นเป็นหลัก เนื่องจากยาชนิดพ่นมีประสิทธิภาพดีและผลข้างเคียงต่ำ
ผู้ป่วยโรคหืดเมื่อได้รับการรักษาด้วยยาทั้ง 2 ชนิดอย่างถูกต้องแล้วและใช้ยาในขนาดสูงร่วมกับยาชนิดอื่น เช่นยารับประทาน แต่ยังไม่สามารถควบคุมโรคหืดได้ จัดได้ว่าเป็นโรคหืดขั้นรุนแรง ซึ่งพบได้ประมาณ 4-7% ของผู้ป่วยโรคหืดทั้งหมด
อาจารย์ นายแพทย์ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ กล่าวว่า การส่องกล้องจี้หลอดลมด้วยความร้อน (Bronchial Thermoplasty) เป็นอีกทางเลือกของการรักษาผู้ป่วยโรคหืดขั้นรุนแรง โดยผู้ป่วยอยู่ภายใต้การระงับความรู้สึกจากแพทย์วิสัญญี แพทย์จะใส่สายที่มีขนาดความกว้าง 2-3 มิลลิเมตรใส่ผ่านกล้องเข้าไปในหลอดลม เซนเซอร์จากสายดังกล่าวจะเปลี่ยนจากคลื่นวิทยุเป็นความร้อนที่ 65 องศาเซลเซียส และจี้เข้าไปที่หลอดลมส่วนปลายเพื่อทำลายกล้ามเนื้อเรียบบริเวณดังกล่าวให้บางลง เมื่อกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมบางลง การตีบของหลอดลมก็จะลดลง ทำให้อาการของโรคหืดดีขึ้น ซึ่งการจี้แต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยจะทำ 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งห่างกัน 3 สัปดาห์ คือ ครั้งที่ 1 ทำที่ปอดขวาล่าง ครั้งที่ 2 ทำที่ปอดซ้ายล่าง ครั้งที่ 3 ทำที่ปอดซ้ายบนและปอดขวาบนร่วมกัน หลังจากนั้นแพทย์จะประเมินผู้ป่วยหลังการรักษาทุกๆ 3 เดือน
จุดเด่นของการรักษาด้วยการส่องกล้องจี้หลอดลมด้วยความร้อน (Bronchial thermoplasty) ได้แก่
-เป็นการรักษาทำ 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 3 สัปดาห์ ซึ่งการรักษาได้ผลดี และมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อย
-หลังการรักษาสามารถควบคุมและลดอาการกำเริบของโรคหืดได้ถึง 5-10 ปี ซึ่งผลการรักษาใกล้เคียงกับในต่างประเทศ
-การรักษาด้วยวิธีนี้ เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยการฉีดยาชีวภาพมุ่งเป้าบางชนิดที่มีราคาแพงให้ผลใกล้เคียงกัน และยังเป็นการลดการใช้ยารับประทานสเตียรอยด์ที่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยโรคหืด
-ลดการนอนโรงพยาบาลจากโรคหืดกำเริบหรือการเข้าห้องฉุกเฉินได้ประมาณ 60-70%
ข้อจำกัดของการรักษาด้วยการส่องกล้องจี้หลอดลมด้วยความร้อน (Bronchial thermoplasty) ได้แก่
-ผู้ป่วยโรคหืดที่มารักษาต้องมานอนโรงพยาบาล
-การรักษาด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยโรคหืดที่มีภาวะเลือดไม่แข็งตัว และผู้ป่วยโรคหืดที่ใช้เครื่องกระตุกหัวใจอยู่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากความร้อนที่จี้นั้นอาจไปทำให้เลือดออกง่าย หรือไปรบกวนการทำงานของเครื่องได้
เนื่องจากโรคหืดเป็นโรคเรื้อรัง หลังการรักษาด้วยการส่องกล้องจี้หลอดลมด้วยความร้อน (Bronchial thermoplasty) ผู้ป่วยโรคหืดยังจำเป็นต้องใช้ยาควบคุมอาการต่อไป แต่ในปริมาณยาที่น้อยลง ซึ่งการใช้ยาที่น้อยลงจะทำให้ลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือลดโรคร่วมที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาลงได้ ได้แก่ โรคความความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคของจอประสาทตา โรคกระดูกพรุน เป็นต้น
การดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคหืด
1.ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการกำเริบได้ง่ายเมื่อมีสิ่งกระตุ้น ซึ่งสิ่งกระตุ้นที่สำคัญที่ทำให้อาการโรคหืดกำเริบคือฝุ่นละออง ควันบุหรี่และการติดเชื้อ มีข้อมูลในเรื่องฝุ่น PM2.5 ชัดเจนว่า ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืดกำเริบและเพิ่มอัตราการตายจากโรคหืดกำเริบ แนะนำว่าผู้ป่วยโรคหืดควรทำกิจกรรมภายในบ้าน และลดการทำกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมนอกบ้าน ควรใช้หน้ากาก N95 เพื่อลดการสัมผัสฝุ่น PM2.5
2.กรณีที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ ผู้ป่วยโรคหืดควรระมัดระวังตัวเองอย่างมาก ไม่ให้ติดโควิด-19 เนื่องจากโรคอาจมีความซับซ้อนมากขึ้น และนอกจากนี้ควรป้องกันไม่ให้อาการหืดกำเริบ เนื่องจากอาการของหืดกำเริบและอาการโควิด-19 จะคล้ายคลึงกัน อาจถูกรวมไว้กับผู้ป่วยโรคโควิดแม้ว่าจะไม่ป่วยเป็นโควิดก็ตาม ผู้ป่วยโรคหืดรุนแรง มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโควิดมากขึ้น
3.ผู้ป่วยโรคหืดควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ และต้องมียาพกติดตัว และอาจมียาติดตัวเกินจากที่แพทย์นัดประมาณ 1 เดือน กรณีที่ต้องมีการเลื่อนนัดหรือมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถมาพบแพทย์ได้ ต้องมียาใช้เพื่อป้องกันอาการหอบกำเริบ
4.ผู้ป่วยโรคหืดควรดูแลตัวเองด้วยการฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนโควิด-19 วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
โรคหืดไม่ใช่โรคที่น่ากลัว หากผู้ป่วยไม่ละเลยและหมั่นดูแลตนเองสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ใช้ยาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ เมื่อมีอาการ ไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาตั้งแต่เริ่มต้น จะช่วยควบคุมไม่ให้อาการกำเริบ และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น