กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดตัว “โครงการแข่งขันชิงรางวัล ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ระดับประเทศ” มุ่งสู่การยุติเอดส์ได้ภายในปี 2573 - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564

กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดตัว “โครงการแข่งขันชิงรางวัล ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ระดับประเทศ” มุ่งสู่การยุติเอดส์ได้ภายในปี 2573

นายแพทย์โอภาส    การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้เกียรติบันทึกเทปร่วมแถลงข่าว “โครงการแข่งขันชิงรางวัลตรวจเร็ว รักษาเร็ว ระดับประเทศ” เพื่อกระตุ้นให้จังหวัดต่างๆ เร่งหากลยุทธ์ในการตรวจพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีของจังหวัดให้ได้เร็ว และให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับยาต้านไวรัส  ได้เร็ว ซึ่งสามารถประเมินได้จากค่าจำนวนเม็ดเลือดขาว CD4 ของผู้ติดเชื้อก่อนเข้ารับยาต้านฯ โดยจะเป็นการแข่งขันระหว่างจังหวัดต่างๆ เพื่อหาผู้ชนะเลิศ รองชนะเลิศ เข้ารับรางวัล พร้อมมอบโล่เกียรติยศ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ประเทศไทยจะสามารถยุติเอดส์ได้ภายในปี 2573 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573  ข้อมูลจากการคาดประมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวีปี 2564 พบว่า มีผู้ติดเชื้อ เอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ จำนวน 493,000 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประมาณ 6,000 คน (เฉลี่ย 16 คน/วัน) และมีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ จำนวน 11,300 คน/ปี (เฉลี่ย 31 คน/วัน) ส่วนด้านการรักษาพบว่า ในปี 2563 ร้อยละ 94 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี (472,445 คน)       รู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีของตนเอง ร้อยละ 84 ของผู้ที่ติดเชื้อที่รู้สถานะการติดเชื้อฯ ได้รับยาต้านไวรัส และร้อยละ 97 ของผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาต้านไวรัสสามารถกดไวรัสได้สำเร็จ ซึ่งยังพบช่องว่างในการส่งเสริมให้ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี เข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโดยเร็ว และที่ยังคงต้องเร่งดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการรักษา ร้อยละ 95  กรมควบคุมโรค จึงมีนโยบายด้านการรักษาที่สำคัญคือ การเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสให้เร็ว ในวันเดียวกับการตรวจวินิจฉัย รวมทั้งปรับสูตรยาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อ รู้สถานะการติดเชื้อเร็ว ได้รักษาเร็ว จนสามารถลดเชื้อไวรัสในเลือด ลดการเสียชีวิต และไม่ถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้อื่น รวมถึงพัฒนาและบูรณาการระบบการคัดกรองโรค ดูแลรักษาเอชไอวีและโรคร่วม ได้แก่ วัณโรค วัณโรคแฝง ไวรัสตับอักเสบบีและซี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อีกทั้งมีการขับเคลื่อน “จังหวัดยุติเอดส์” เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายระดับจังหวัด ทั้งภาครัฐ เอกชน         และชุมชน ให้บูรณาการทรัพยากรและทำงานร่วมกัน โดยรับผิดชอบการป้องกันควบคุมโรคเอดส์ในพื้นที่ของตนเอง ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัยและนโยบาย (IHRI)  กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการปลุกมาตรการด้านเอชไอวีให้กลับมาเข้มข้นขึ้น จึงอยากให้ประชาชน และภาครัฐให้ความสนใจเข้าร่วม และสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งการตรวจเร็ว รักษาเร็ว จะทำให้จังหวัดยุติเอดส์ได้เร็ว เป็นผลดีกับภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของจังหวัด  ไม่ต่างจากจังหวัดที่ควบคุมโควิด 19 ได้นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการ ซึ่งจะส่งผลให้คนที่ป่วยและเสียชีวิตจากเอดส์น้อยลง เมื่อรู้เร็ว รักษาเร็ว ก็จะทำให้ส่งต่อ หรือถ่ายทอดเชื้อให้คนอื่นน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งแปลว่าการใช้งบประมาณด้านการรักษาและป้องกันก็จะลดลงแต่กลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถนำงบประมาณไปสนับสนุนโรคอื่นๆ ได้มากขึ้นดร.พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ประจำประเทศไทย เล็งเห็นว่า โครงการนี้จะสามารถช่วยให้กระบวนการรักษาเกิดขึ้นได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงการเข้าถึงยาที่ดีขึ้น เป็นผลให้ลดการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ นับว่าสอดคล้องกับเป้าหมายที่โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติได้ตั้งไว้ใน The New UNAIDS 2025 Targets


คุณอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เป็นตัวแทนของภาคประชาชน ได้เสนอแนะให้ยกระดับการยุติเอดส์เป็นวาระของประเทศ โดยมีการรับยาต้านไวรัสในวันเดียวกับที่ตรวจพบเชื้อเป็นเป้าหมายของประเทศ และของทุกหน่วยบริการ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรามีความพร้อมที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงยา และการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ตามมาตรฐาน 


สำหรับ “โครงการแข่งขันชิงรางวัลตรวจเร็ว รักษาเร็ว ระดับประเทศ” แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มิถุนายน 2565 และในช่วงที่ 2 ระหว่างเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2565 สามารถแสดงความจำนงมาได้ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยผ่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ด้วยความเห็นชอบของผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนกรุงเทพมหานครให้ผ่านรองปลัดกรุงเทพมหานครฝ่ายการแพทย์ ด้วยความเห็นชอบของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งการประเมินผลจะไม่เปิดเผยชื่อหรือข้อมูลของผู้ติดเชื้อทุกคน ไม่ว่าจะใช้สิทธิการรักษาพยาบาลใด รางวัลมีดังนี้ รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 100,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 50,000 บาท รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 30,000 บาท และรางวัลชมเชย 7 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมทั้งใบประกาศเกียรติคุณและโล่ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค โทร. 02 590 3211 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad