รู้เท่าทันสัญญาณแห่งวัย กับโรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก - Wellness Times News

Breaking

Home Top Ad

POST TOP AD

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564

รู้เท่าทันสัญญาณแห่งวัย กับโรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก

ดวงตานับเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิต และเช่นเดียวกับอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายที่ย่อมมีการเสื่อมได้เมื่ออายุเพิ่มขึ้น อย่างโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related Macular Degeneration-AMD) ที่เป็นอีกปัญหาสุขภาพสำหรับคนสูงวัย เพราะเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น ดังนั้น การป้องกัน ดูแล และตระหนักรู้จึงมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อถนอมดวงตาไว้ใช้ได้ยาวนานที่สุด  เมื่อเร็ว ๆ นี้ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย (RCOPT) ได้จัดกิจกรรมเสวนาผ่านช่องทาง Clubhouse คลับสุขภาพตาดี (Thai Ophthalmologists) ในหัวข้อ ‘ความเสื่อมจอประสาทตาตามอายุที่ไม่อาจเลี่ยงทำอย่างไรดี?’ โดยมีนายแพทย์คณินท์ เหลืองสว่าง ผู้เชี่ยวชาญสาขาจอตาและน้ำวุ้นตา และทีมจักษุแพทย์หลากหลายสาขา ร่วมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโรคจอตาเสื่อมแก่ผู้ที่สนใจนายแพทย์คณินท์ เหลืองสว่าง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจอตาและน้ำวุ้นตา กล่าวว่า “โรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก  มีการดำเนินโรคที่รวดเร็วและรุนแรง แต่หากตรวจพบในช่วงแรก ๆ ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมไม่ให้ลุกลามได้ด้วยการรักษาวิธีต่าง ๆ เช่น  การฉายเลเซอร์ และการฉีดยา Anti-VEGF เข้าน้ำวุ้นตา เป็นต้น โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย”  


จากผลสำรวจสำหรับโรคจอตาเสื่อมนั้นอุบัติการณ์ของโรคในประเทศไทยมักพบในผู้สูงวัยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยพบในกลุ่มนี้สูงถึง 12% ของผู้ป่วยทั้งหมด และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดง จนระยะท้าย ๆ จะมีอาการตามัว สูญเสียการมองเห็นตรงกลางภาพ อาจมองเห็นภาพบิดเบี้ยวหรือสีผิดปกติ โดยมักไม่มีอาการปวดตาใดๆ นอกจากนี้ โรคจอตาเสื่อมยังแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ จอตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD) ซึ่งพบได้มากถึง 80-90% ในผู้ป่วยจอตาเสื่อมตามวัยทั้งหมด โดยอาการสูญเสียการมองเห็นเป็นแบบไม่รุนแรง การดำเนินโรคเป็นไปอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป  และจอตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD) ที่แม้จะพบได้น้อยประมาณ 10-15% ของผู้ป่วยทั้งหมด หากแต่อาการของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่า และหากไม่รักษาจะนำไปสู่การตาบอดได้สูง และนั่นย่อมส่งผลเป็นอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัยหากต้องเผชิญกับสภาพร่างกายที่มีข้อจำกัดเช่นนั้น เมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา เช่น อ่านหนังสือ ขับรถ และการมองในระยะไกล 


อาการของผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก คือจะมีเส้นเลือดงอกใหม่ผิดปกติใต้จอตา (Choroidal neovascularization) ที่ทำให้มีเลือดออก หรือสารน้ำรั่วบริเวณใต้จอตาและในจอตา ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ทั้งนี้สาเหตุในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคได้หลายอย่าง อาทิ อายุ พันธุกรรม การสูบบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูง และการรับแสงยูวีเป็นประจำ เป็นต้น ด้านการรักษาในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่รักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยชะลออาการ ลดความรุนแรงและป้องกันการสูญเสียการมองเห็น เช่น การฉีดยากลุ่ม Anti-VEGF เข้าน้ำวุ้นตา การรักษาด้วยเลเซอร์  หรืออาจใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยแต่ละรายมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนเริ่มการรักษาจึงควรมีการพูดคุยปรึกษากันระหว่างจักษุแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด ผู้ป่วยส่วนมากมักมีคำถามว่าต้องฉีดยาบ่อยแค่ไหน หรือการมองเห็นยังดีอยู่ ทำไมต้องฉีดยา สำหรับผู้ป่วย แม้ว่าสายตาจะดีขึ้นหลังการรักษาแล้วแต่หากยังตรวจพบว่ามีสารน้ำในตา ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ถึงการดำเนินไปของโรคจอตาเสื่อม ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมาเป็นมากกว่าเดิม หรือไม่ให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นในระยะยาว โดยแพทย์อาจเลือกใช้ยาที่มีประสิทธิภาพในการลดสารน้ำในตา และยาที่สามารถยืดระยะเวลาการฉีดยาได้นานขึ้น ซึ่งผู้ป่วยเองควรมีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอพันโทนายแพทย์ศีตธัช วงศ์กุลศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจอตาและน้ำวุ้นตา กล่าวว่า “สำหรับทางเลือกในการรักษาด้วยยาแบบฉีดเข้าวุ้นตานั้น ซึ่งล้วนมีประสิทธิภาพและราคาที่แตกต่างกัน  โดยการเลือกใช้ยาแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษา ส่วนข้อแนะนำในการใช้ยารักษาแบบฉีดนั้นแนะนำให้รับการรักษาและฉีดยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และป้องกันการสูญเสียการมองเห็น  ในปัจจุบันมีการพัฒนายาใหม่ๆ ที่มีฤทธิ์ยาวนานขึ้นในการควบคุมโรค เพื่อลดภาระในเรื่องความถี่ของการฉีดยาทั้งต่อผู้ป่วย ผู้ดูแล และค่าใช้จ่ายของระบบสาธารณสุข โดยรูปแบบการรักษาหรือระยะห่างในการฉีดยานั้นอาจขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย”  


สิ่งที่สำคัญและไม่ควรละเลยคือการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ  โดยบุคคลทั่วไปควรได้รับการตรวจสุขภาพตาทุก 2-4 ปี และผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ควรได้รับการตรวจจอตาอย่างน้อยปีละครั้ง แม้จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ  และด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการทำให้การตรวจสุขภาพตามีพัฒนาการไปมาก สามารถตรวจได้หลายวิธี เช่น เครื่องถ่ายภาพจอตาแบบตัดขวาง (OCT) ซึ่งสามารถตรวจได้ง่าย รวดเร็ว ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด  ทั้งยังสามารถติดตามการรักษาได้อย่างแม่นยำอีกด้วย


นอกจากสาระดีดีจากคลับสุขภาพตาดี พันโทนายแพทย์ศีตธัช วงศ์กุลศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจอตาและน้ำวุ้นตา มีเกร็ดความรู้เพิ่มเติมที่ใกล้ตัวผู้ป่วยในประเทศไทยมาเล่าให้ฟังด้วย


ในประเทศไทยได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อมถึง 572 ราย จากโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ 5 แห่ง พบว่าผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อมส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดยาค่อนข้างบ่อยในปีแรกของการรักษา โดยเฉลี่ย 6 เข็มต่อปี ซึ่งการได้รับการฉีดยาที่ค่อนข้างบ่อยนี้ สัมพันธ์กับการมองเห็นที่ดีขึ้นในช่วงแรกๆอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในปีที่ 2-3 ของการรักษา กลับพบว่า ผู้ป่วยได้รับการฉีดยาลดลงเหลือเพียง 2-3 เข็มต่อปีเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้การมองเห็นของผู้ป่วยเหล่านี้มักแย่ลงไปจนเกือบเท่าก่อนเข้ารับการรักษาครั้งแรก ซึ่งจำนวนการฉีดยาที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นนั้น อาจเป็นเพราะความอ่อนล้าของกระบวนการรักษาทั้งของแพทย์ และตัวผู้ป่วยเอง และนอกจากการมองเห็น ในการประเมินความรุนแรงของโรค แพทย์ต้องมีการพิจารณาถึงการบวมน้ำของจอตา ซึ่งเหมือนเป็นภาพหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ฟ้องถึงความผิดปกติของดวงตาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งปกติแล้วหากตรวจพบการบวมน้ำของจอตา แพทย์มักให้การรักษาด้วยการฉีดยาอย่างสม่ำเสมอ แต่จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในความเป็นจริง กลับพบว่า หลังได้รับการรักษาไปแล้วนั้น ผู้ป่วยกว่าครึ่งหนึ่งกลับยังคงมีการบวมของน้ำในจอตาอยู่ ซึ่งสิ่งนี้เองเปรียบเสมือนหลักฐานที่บ่งบอกได้ว่า แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาไปแล้วหลายปี ก็อาจยังไม่สามารถทำให้โรคสงบได้ หรือแม้แต่การมองเห็นของผู้ป่วยเอง ก็อาจจะไม่กลับมาดีขึ้น หากอ้างอิงจากข้อมูลการศึกษาโดยละเอียดนั้น มีการแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่มเพื่อเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มที่ได้รับการฉีดยาอย่างเคร่งครัด เทียบกับกลุ่มที่ได้รับการฉีดยาแบบยืดหยุ่น พบว่า กลุ่มที่ได้รับการฉีดยาอย่างเคร่งครัด จะมีการมองเห็นที่ดีขึ้นได้มากกว่า และยังสามารถคงระดับการมองเห็นที่ดีในระยะยาวมากกว่า ต่างจากผู้ป่วยที่ฉีดยาแบบยืดหยุ่น ซึ่งมีการมองเห็นแย่ลงมากในปีที่ 3 และมีการบวมน้ำของจอตาที่แย่มากกว่าเช่นเกัน จากข้อมูลทั้งหมดเป็นการยืนยันและแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดยาที่สม่ำเสมอในระยะเวลาที่เหมาะสม จะสามารถช่วยผู้ป่วยเหล่านี้ให้มีชีวิตและการมองเห็นที่ดีต่อไปได้ หากแต่ด้วยข้อจำกัดของประสิทธิภาพการรักษาในปัจจุบัน ยังคงอาจทำให้การรักษานั้นกลับกลายเป็นภาระของทั้งผู้ป่วย ญาติผู้ดูแล และบุคลากรทางการแพทย์ ความเหนื่อยล้ากับการที่ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อติดตามบ่อยๆ การฉีดยาที่ต้องเจ็บซ้ำต่อเนื่อง ไม่แปลกใจเลยว่า สิ่งเหล่านี้ย่อมนำไปสู่ความท้อแท้ในการรักษา จนหลายครั้ง ผู้ป่วยกลับเลือกที่จะยอมขาดการรักษา จนนำไปสู่การมองเห็นที่แย่ลงในที่สุด ดังนั้น เป้าหมายของการรักษาที่สำคัญในตอนนี้ คือการพัฒนาวิธีการรักษาหรือตัวยาใหม่ที่มีศักยภาพควบคุมการมองเห็นและลดการบวมน้ำได้ดีขึ้น สามารถออกฤทธิ์ได้นานขึ้น เพื่อยืดระยะห่างของการฉีดยาน่าจะเป็นทางออกที่ช่วยลดภาระของระบบสาธารณสุข และทำให้การรักษาโรคจอตาเสื่อมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต


สำหรับการเสวนาออนไลน์ทาง Clubhouse คลับสุขภาพตาดี โดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย (RCOPT) ที่จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพดวงตา โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายการย้อนหลังได้ทางเพจ Facebook สุขภาพตา โดย ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย All About Eye by RCOPT หรือฟังคลิปเสียงย้อนหลังได้ที่ YouTube Channel, Spotify และ Apple Podcasts  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad